ปรับโครงสร้างอย่างไร? ให้ตอบโจทย์การทำงานยุคใหม่
"KPMG" เผย 5 กลยุทธ์การปรับโครงสร้าง เพื่อให้ตอบโจทย์กับการทำงานยุคใหม่ และการอยู่รอดขององค์กร
การชะลอตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันมีผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายองค์กรเริ่มค้นหาวิธีการปรับตัวทางธุรกิจ รวมไปถึงการปรับโครงสร้างบุคลากร การจัดการบุคลากรมีความท้าทายแต่ถูกมองผ่านการวางแผนทรัพยากรบุคคลแบบเดิมๆ นั่นคือเริ่มจากจำนวนพนักงานหรือตำแหน่งที่องค์กรมีอยู่เดิม หรือความต้องการขององค์กร ณ ขณะนั้น
แต่แท้จริงแล้ว การวางแผนทรัพยากรบุคคลควรเป็นการมองเชิงยุทธศาสตร์ว่า ในระยะเวลา 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า
องค์กรจำเป็นต้องมีโครงสร้างบุคลากรอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ ความจำเป็นในการคาดการณ์จำนวนบุคลากรในอนาคต และการวางแผนที่ดีนั้นสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และการใช้หุ่นยนต์ (Robotics)เพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพนักงานโดยตรง
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งเพิ่มความต้องการทั้ง AI และ Robotics มากขึ้นอีก ซึ่งการแพร่ระบาดไปทั่วโลกของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้เป็นการบังคับให้องค์กรจำเป็นต้องมีการวางแผนกลยุทธ์และนำมาปรับใช้ให้เร็วที่สุดเพื่อการอยู่รอดขององค์กร
โครงสร้างบุคลากรของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแต่ละองค์กรจึงจำเป็นต้องหาจุดสมดุลของจำนวนและประเภทบุคลากร โดยสามารถพิจารณาหลักเกณฑ์ Five B’s
- Buy (ว่าจ้าง): คำนึงถึงจำนวนและประเภทพนักงานประจำที่จำเป็นต่อการดำเนินการขององค์กร
- Build (สร้างเสริมบุคลากร): ส่งเสริมการเรียนรู้และอบรมให้กับบุคลากรเพื่อเพิ่มทักษะในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มทักษะในสายงานเดิม หรือสายงานใหม่
- Borrow (ยืมหรือว่าจ้างชั่วคราว): องค์กรไม่จำเป็นต้องรับพนักงานเพื่อบรรจุเป็นพนักงานประจำทุกกรณี ในบางกรณี การว่าจ้างผู้รับจ้างระยะสั้นตามขอบเขตงานหรือการใช้บริษัทที่ปรึกษาในงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษอาจมีประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่า
- Bot (หุ่นยนต์): นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่องค์กร โดยพิจารณาว่าหน้าที่ใดที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้หุ่นยนต์มาทดแทนได้
- Base (สถานที่ทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวก): พิจารณาว่าองค์กรสามารถให้พนักงานทำงานจากสถานที่ใดได้บ้างและมอบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานได้ เช่น ทำงานจากต่างประเทศ ทำงานในสำนักงาน การใช้ประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (shared services) และทำงานออนไลน์ เป็นต้น เพื่อที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับพนักงานและการทำงาน
“ในขณะที่แต่ละองค์กรออกจากการล็อคดาวน์ และเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวทางธุรกิจและสภาพที่เป็นจริงใหม่นั้น การจัดการโครงสร้างบุคลากรของแต่ละองค์กรต้องมีการประเมิน และปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา” เจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย เมียนมาร์ และลาวกล่าว
“ผู้นำที่สนับสนุนการบริหารจัดการบุคลากรจะสามารถช่วยให้องค์กรเข้าสู่สถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น การมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนตลอดเวลาขององค์กรจะทำให้องค์กรนั้นสามารถรับมือกับแรงกดดันภายนอกได้ดี”
ที่กล่าวมาเป็นข้อคิดในการสร้างสัมพันธ์กับโครงสร้างพนักงานเพื่อการเติบโตของธุรกิจ สำหรับคำแนะนำอื่นๆ ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่