ทันตแพทย์รักษาฟัน"บอส อยู่วิทยา"ให้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว

ทันตแพทย์รักษาฟัน"บอส อยู่วิทยา"ให้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว

อุปนายกทันตแพทยสภาเผย หมอฟันรักษา"บอส อยู่ วิทยา"ยันไม่ได้ใช้โคเคน รอเจ้าตัวพร้อม-เตรียมข้อมูลการรักษา ก่อนแจงทันตแพทยสภาเนื่องจากผ่านมา 7 ปีกว่าแล้ว


ทพ.เผด็จ ตั้งงามสกุล กรรมการทันตแพทยสภา อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 1 กล่าวว่า ขณะนี้ทันตแพทย์ที่ให้การรักษาบอส อยู่วิทยา ได้ติดต่อเป็นการส่วนตัวกับกรรมการทันตแพทยสภาท่านหนึ่ง เพื่อยืนยันว่า ไม่ได้มีการใช้โคเคนในการรักษาฟันแต่อย่างใด เพราะคลินิกทันตกรรม หรือในวงการทันตกรรมไม่มีการใช้สารโคเคนอยู่แล้ว เพราะเป็นยาเสพติด จะมีการใช้เพียงยาชาที่อนุญาตทางทันตกรรมเท่านั้น

ส่วนจะมีการเชิญทันตแพทย์รายดังกล่าวมาให้ข้อมูลที่ทันตแพทยสภาหรือไม่นั้น ทพ.เผด็จ กล่าวว่า ต้องรอให้เจ้าตัวพร้อม และเตรียมข้อมูลการรักษา เนื่องจากผ่านมา 7 ปีกว่าแล้ว แต่ที่เจ้าตัวจำได้ คือ ยืนยันว่าไม่ได้ใช้โคเคน ซึ่งก็สงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนบอกว่า มีการใช้สารโคเคน ทั้งนี้ ทันตแพทยสภาขอรอเวลาสักระยะ เพื่อติดต่อและประสานในการให้ข้อมูล เนื่องจากปัจจุบันก็ยังมีคณะกรรมการอีกชุดที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น จึงต้องมีหลายฝ่ายอยู่ในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ขอยืนยันว่า ไม่มีการใช้โคเคนในวงการทันตกรรมแน่นอน


ด้านภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้สารเสพติดทางการแพทย์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และ 4 โดยสารออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 มีอยู่ 20 ตัว อาทิ มอร์ฟีน โคเคน โดยกลุ่มนี้จะเป็นยาที่ อย. เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว ส่วนมากจะพบมากว่า มีการใช้ในห้องผ่าตัดเฉพาะจุด โดยเฉพาะจมูกและคอ ซึ่งที่ผ่านมา อย. จัดส่งให้สถานพยาบาล ตามการร้องขอ และทำรายละเอียดว่ามีการใช้จำนวนมากเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละปีจะมีการใช้ปริมาณ 1 กิโลกรัม โดยจากข้อมูลปี 2562 ครึ่งกิโลกรัม ปี 2561 มีการใช้ 0.75 กิโลกรัม และปี 2560 มีการใช้ 1.2 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันมียาชาตัวอื่นมีประสิทธิภาพกว่า

เมื่อถามว่ามีการตรวจสอบการใช้ย้อนหลัง 10 ปีหรือไม่ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า มี แต่ปริมาณการใช้อยู่ที่เฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อปี

“สำหรับฤทธิ์โคเคน จะออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง ทำให้เคลิ้ม มีผลต่อการเต้นของหัวใจ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ และช็อกได้ หากใช้เยอะไปนานๆ จะทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า หากครอบครอง โดยไม่มีใบอนุญาตจะเข้าข่ายมาตรา 69 ของพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ระบุว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"ภญ.สุภัทรากล่าว