วิกฤติสร้างโอกาสธุรกิจแฟรนไชส์ สูตรสำเร็จลดเสี่ยง!
เวทีเสวนา “แนวคิดสร้างสรรค์อัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand identity) ในธุรกิจแฟรนไชส์ไทย” บรรดากูรูมั่นใจ “วิกฤติ” คือ “โอกาส” ที่ผู้ประกอบการต้องเร่งเพิ่มขีดแข่งขัน ปรับกลยุทธ์สอดรับเทรนด์วิถีชีวิตปกติแบบใหม่ และธุรกิจแฟรนไชส์เป็นหนึ่งในโอกาสสำคัญ
การพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องและปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์! เป็นเครื่องมือสำคัญช่วยขับเคลื่อนธุรกิจไปต่อได้ แม้ในห้วงวิกฤติที่อาจยังไม่คิดที่จะก้าวต่อไป แต่ยังมีทางเลือก หรือ ตัวช่วย จากสูตรสำเร็จ ต่างๆ และ ธุรกิจแฟรนไชส์ คือ หนึ่งในนั้น
บุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านเครปและแพนเค้ก “N&B” บริษัท เอ็นบี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วิกฤติ คือโอกาสสำคัญของธุรกิจแฟรนไชส์! โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 นี้มีลูกค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก ดีมานด์เพิ่มขึ้นมหาศาล แต่จะทำอย่างไรให้มีรายได้และยั่งยืน!
"แฟรนไชส์ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ให้ได้ ยิ่งเราตัวเล็กก็เคลื่อนไหวได้คล่องและเร็ว ที่สำคัญสร้างระบบให้ดี ถ้ามีความเสี่ยง ก็ต้องลดความเสี่ยงที่มีให้ได้"
การลดอัตราการเสี่ยงของธุรกิจแฟรนไชส์ มีหลักเกณฑ์ 3 ประการ กล่าวคือ เลือกคู่ค้า, เลือกทำเลให้คู่ค้า และ มีทีมสนับสนุนให้คู่ค้า นอกจากนี้มีอีกหลายสาเหตุปลีกย่อยที่ต้องนำมาพิจารณา เช่น การลดความคาดหวังของผู้ที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ หลายรายต้องการตัวเลขการันตีรายได้ แต่เราไม่ควรสร้างความคาดหวัง เพราะทำเลที่ตั้งของร้านค้าแฟรนไชส์แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ดังนั้นความสามารถในการให้บริการและสร้างรายได้ย่อมต่างกัน
ขณะที่การเลือกคู่ค้า หรือแฟรนไชส์ซี่ เข้ามาร่วมธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ! เพราะคู่ค้าต้องมีจุดยืนที่เหมือนกัน ขณะที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องรู้ว่า “Core Strength” หรือ จุดขายของธุรกิจคืออะไร เช่น ถ้าทำเลที่ตั้งคือจุดขาย ก็ต้องช่วยคู่ค้าในการเลือกร้าน มีการแบ่งปันข้อมูลด้านการขาย ควบคุมทีมงานในการให้บริการที่ดีกับคู่ค้า และต้องเป็นแฟรนไชส์ที่เข้าใจแฟรนไชส์ด้วยกัน
“ประสบการณ์ของลูกค้าจะสร้างการจดจำแบรนด์ ด้วยระบบแฟรนไชส์จะทำให้เราขายชื่อแบรนด์ได้ แต่ต้องมีความเข้าใจในธุรกิจแฟรนไชส์และพัฒนาตนเองต่อเนื่อง ธุรกิจเกือบทุกประเภทสามารถเป็นแฟรนไชส์ได้ถ้ามีการพัฒนาระบบที่ดีตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขาย เพื่อลดอัตราการเสี่ยงในธุรกิจ”
ทินกฤต สินทัตตโสภณ เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์ร้านชานมไข่มุก คามุ (Kamu) บริษัท คามุ คามุ จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้ดี โดยเส้นทางสู่ความสำเร็จนั้นต้องเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าหมายของธุรกิจ! มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
"ความท้าทายของธุรกิจแฟรนไชส์มีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งปัจจัยภายใน คือตัวเราและแฟรนไชส์ซีต้องมีความใส่ใจธุรกิจ มีการพัฒนา ควบคุมคุณภาพ ส่วนปัจจัยภายนอก คือสิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ เป็นสิ่งที่เราควบคุมยาก เช่น ทำเลที่ตั้งจากที่เคยดีอาจกลายเป็นไม่ดี หรือการเกิดโรคระบาดวิกฤติโควิด”
อย่างไรก็ดี “วิกฤติโควิด” เป็นแรงกระตุ้นให้ปรับตัว! สร้างโอกาสใหม่ ซึ่งยอดขายจากช่วงวิกฤติมาจากการบริหารจัดการด้าน “ดีลิเวอรี” หรือส่งตรงถึงบ้าน เพราะผู้คนอยู่บ้านไม่ออกไปไหน
สำหรับร้านชานมไข่มุกคามุ เปิดบริการ 9 ปี มีสาขากว่า 100 แห่งในไทยและต่างประเทศ มุ่งสร้าง “ความต่าง” เป็นจุดแข็งท่ามกลางคู่แข่งจำนวนมาก
“เราต้องมีครีเอทีฟสูง คิดเมนูใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา และเปิดโอกาสให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการพัฒนา พยายามหาจุดแข็งและจุดต่างเพื่อที่จะไม่ต้องไปอยู่ในเรดโอเชี่ยน พร้อมๆ กับควบคุมคุณภาพสินค้าซึ่งเป็นพื้นฐานของธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อให้ธุรกิจยั่งยืน”
กฤษฎ์ กาญจนบัตร เจ้าของและผู้บริหารแฟรนไชส์พรีเมี่ยมคาร์แคร์ “Moly Care” บริษัท คาร์แลค(ไทย-เยอรมัน) จำกัด กล่าวย้ำว่า ทุกครั้งที่มีวิกฤตินั่นคือโอกาส!
“วิกฤติโควิด-19 ขณะนี้อาจทำให้หลายคนไม่อยากลงทุน แต่มองว่าเป็นข้อดี เพราะคู่แข่งปิดตัวเร็วขึ้น และคนที่มีงานทำกำลังจะตกงาน ต้องมองหางานทดแทนมากขึ้น คนเหล่านี้ได้รับเงินก้อนจากการออกจากงานกระทันหันทำให้เรามีโอกาสมหาศาลที่ไร้คู่แข่ง เพราะเขาไม่เคยทำธุรกิจจึงต้องมองหาธุรกิจรองรับ”
ดังนั้นการขยายสาขา และจัดโอเพ่นเฮาส์อย่างสม่ำเสมอ จะเป็นแนวทางสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Moly Care ขยายธุรกิจมากว่า 15 ปี วางแนวทางเลือกแฟรนไชส์ซี่เริ่มจากมีความรัก ความหลงใหล และแรงผลักดันมุ่งมั่นในธุรกิจ ตามมาด้วย การฝึกอบรม และติดตามตรวจสอบควบคุมคุณภาพ หรือผู้ที่สนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์คาร์แคร์ มีสูตรง่ายๆ "S M L“ เริ่มจาก ”S-Service Mind" มีใจรักการให้บริการ “M-Money” ต้องมีเงิน และ “L-Location” มีทำเลที่ดี
นอกจากนี้ “คน” เป็นอีกหัวใจสำคัญ ต้องมี “คนของเจ้าของ” อยู่ประจำร้าน กรณีที่ยังไม่มีความพร้อมในเรื่อง “ระบบ” ส่วนสถานที่ของร้านก็ต้องเหมาะสมทั้งด้านราคาค่าเช่าและทำเลที่ตั้ง เพราะจุดอ่อนของธุรกิจคาร์แคร์ คือ สถานที่ ต้องสะดวกมีพื้นที่สำหรับจอดรถ ในอนาคตรูปแบบการให้บริการอาจต้องปรับเปลี่ยนเป็น “Quick n Go - มาเร็ว ล้างเร็ว และไปเร็ว” ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้ายุคเร่งรีบ
กฤษฎ์ ทิ้งท้ายว่า “ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยหากไม่มีระบบ ไม่มีการจัดการ ไม่มีการติดตาม จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์เสียหายได้ และหากจะทำแฟรนไชส์เพราะคิดว่าอยากทำ แต่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความมุ่งมั่น ไม่มีแรงผลักดัน อาจต้องทบทวนใหม่ เพราะจะทำให้ไม่ประสบผลสำเร็จในธุรกิจ”