ทำความรู้จัก รูปแบบธุรกิจ 'XaaS' นิวนอร์มอลที่มาแรงในโลกดิจิทัล
ทำความรู้จักรูปแบบธุรกิจใหม่ "XaaS" ที่มาแรงในโลกดิจิทัลที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นแกนหลักของ Digital Economy ช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่บุคคลธรรมดาไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูล และผู้ซื้อผู้ขายสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ตลอดเวลา
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายคนค้นพบโอกาสใหม่ทางธุรกิจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นนักบิน แอร์โฮสเตส หรือใครก็ตามก็สามารถขายสินค้าผ่าน Social Network ได้
อานิสงส์นี้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีดิจิทัลที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เป็นแกนหลักของ Digital Economy ช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่บุคคลธรรมดาไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่สามารถเข้าถึงข้อมูล และผู้ซื้อผู้ขายสามารถติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้ตลอดเวลา
ผู้เขียนจึงทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวภายใต้โครงการ “เทคโนโลยีพลิกผันในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและบทบาทของธนาคารกลางในทศวรรษหน้า” ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พบประเด็นที่น่าสนใจหลายประการของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Digital Economy
Digital Economy ทำให้ผู้ประกอบการสามารถโฆษณาสินค้าของตนเป็นวงกว้างในต้นทุนที่ถูกลง สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรงผ่าน Platform ต่างๆ เช่น Social network platform ที่ในปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มจำเพาะสำหรับการค้าขายกันเองมากมาย หรือ E-commerce platform ที่เฟื่องฟูขึ้นทุกวัน
โดย Application ส่วนใหญ่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเปิดร้านค้าย่อมๆ ของตนเองใน Platform ดังกล่าว ซึ่ง Application ที่คนไทยมักรู้จักได้แก่ Lazada และ Shoppee
ถึงแม้การค้าขายผ่าน e-commerce จะมีบทบาทสำคัญและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญกับช่องทางขายออนไลน์ (Online) เพียงอย่างเดียว
จากงานวิจัยพบว่าการค้าขายที่จะประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล 4.0 จะต้องเป็นลักษณะ Omnichannel ที่มีการเชื่อมโยงการค้าทั้งออฟไลน์ (Offline) และออนไลน์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน เช่น ห้างสรรพสินค้าสามารถสร้างโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile application) ที่มีฟังก์ชันทั้งการแสดงแผนที่ร้านค้า การสะสมแต้ม หรือการซื้อสินค้าในห้างผ่านโทรศัพท์มือถือได้เลย
ผู้บริโภคสามารถมีประสบการณ์การซื้อสินค้าใหม่ เช่น ลูกค้าลองเสื้อผ้าจากหลายร้านแต่ยังตัดสินใจไม่ได้ ในระหว่างพักรับประทานอาหารสามารถตัดสินใจได้แล้ว จึงสั่งซื้อสินค้าผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น และแจ้งให้นำสินค้าไปส่งที่บ้านเลย โดยที่ตัวเองไม่ต้องเสียเวลาเดินย้อนกลับไปซื้ออีกครั้งหนึ่ง หรือการที่เจ้าของห้างสรรพสินค้าอาจมีฟังก์ชัน “สะสมไมล์การเดิน” หากลูกค้ามาเดินในห้างสรรพสินค้าเพื่อเก็บเป็นแต้มสำหรับลดราคาสินค้าต่างๆ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้ามาเดินชอปปิงยังห้างสรรพสินค้าเช่นเดิม
นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถลดต้นทุนการผลิต ไม่ต้องใช้เงินลงทุนไปกับเครื่องจักรหรือโรงงานเพื่อการผลิต เพราะสามารถเลือกใช้วิธีการเช่าอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่เรียกว่า Everything as a service model (XaaS) ได้
ในปัจจุบันคนทั่วไปมักจะรู้จักแนวคิดแบบนี้จากการให้บริการของ AirBnb ที่ให้เช่าที่พัก หรือ Grab ที่สามารถนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้บริการเป็นแท็กซี่เป็นครั้งคราว แต่คำว่า Everything as a service มีความหมายที่กว้างกว่านี้มาก โดยอาจเป็นการสร้าง “แพลตฟอร์ม” หรือ “ซอฟต์แวร์” เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เข้าถึงระบบในการจัดการหนึ่งเช่น Microsoft Office 365 หรือหมายถึง “Infrastructure” ที่ผู้ประกอบการสามารถเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานเช่นเช่าใช้ระบบ Payment network หรือ Banking network จากธนาคารเป็นครั้งคราว
นอกจากนี้ยังอาจเป็น “Device” ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ต้องการในบางช่วงเวลาได้เช่น Air-conditioning as a service ที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของแอร์ แต่สามารถเช่าใช้แอร์ตามระยะเวลาที่ใช้ที่บ้านได้ หรืออาจเป็น “Security” ที่ผู้ซื้ออาจเสียค่าการใช้อุปกรณ์กล้องวงจรปิดเฉพาะช่วงเวลาที่ตนเองไม่อยู่บ้าน โดยผู้ซื้อไม่ต้องเสียค่าติดตั้งหรือค่าอุปกรณ์เพื่อเป็นเจ้าของอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นต้น
รูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า XaaS จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย XaaS เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีผู้คิดค้นและผู้สร้างบริการ นำบริการนั้นมาให้บริการกับผู้ใช้งานผ่านการคิดค่าบริการตามการใช้งานผ่านเทคโนโลยี Cloud Computing และ Internet of Thing (IoT) ที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ตรวจสอบการใช้อุปกรณ์บางประเภทแบบ Real-time
การเกิดขึ้นของ XaaS นี้ ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้สถาบันการเงินในปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่เป็นองค์กรรับฝากและปล่อยกู้ จนกลายเป็นองค์กรที่เรียกว่า Solution providers ผ่านการเชื่อมโยงลูกค้าของธนาคารกับผู้ให้บริการ Third parties ในด้านอื่นๆ เช่นธนาคารกสิกรไทย มีแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Madhub ที่ SMEs ซึ่งเป็นลูกค้าเงินกู้ของธนาคารสามารถเข้าถึงบริการด้านอื่นที่ตนเองไม่ถนัดจากผู้ประกอบการอื่นที่ได้รับการรับรองโดยธนาคารได้
จะสังเกตเห็นว่าภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ ทำให้ความพยายามในการเติบโตผ่านการทำธุรกิจแต่เพียงผู้เดียวที่พยายามกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาจไม่ใช่แนวทางที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน แต่สถาบันการเงินและภาคส่วนต่างๆ จะต้องหาแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าที่สร้างสรรค์ เพื่อเชื่อมโยงจุดเด่นของบริการของแต่ละองค์กรจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในที่สุด
ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานได้ฟรีจาก www.khonthai4-0.net