ไทยป้องกันควบคุม 'โควิด-19' ดีแล้ว แต่ต้องดีกว่าเดิม
"กรมควบคุมโรค" เผยผลการถอดบทเรียนเบื้องต้นจากทีม WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ในการป้องกันโรค "โควิด-19" ของไทย "ดีแล้ว แต่ต้องดีกว่าเดิม"
วันนี้ (10 สิงหาคม 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าร่วมการถอดบทเรียนการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยทีมจาก WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ใน 9 เสาหลักสำคัญต่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยมีผู้แทนของไทยเข้าร่วมกว่า 100 คนจากทุกภาคส่วน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนนี้ ผลการถอดบทเรียนของประเทศไทยพบว่า
ไทยสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีและได้รับคำชื่นชมจากทีมผู้วิเคราะห์ อาทิ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรต่างๆ ซึ่งเห็นได้จากการร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคในผู้เดินทางจากต่างประเทศในสถานที่กักกันของประเทศไทย การเเลกเปลี่ยนข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูลผู้เดินทาง ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถตรวจจับสถานการณ์ผิดปกติได้เร็ว ทำให้สามารถตรวจจับผู้ป่วยตามนิยามฯ และผู้ป่วยยืนยันรายแรกของประเทศไทยได้ มีการพัฒนานิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวน การคัดกรองผู้เดินทางที่ด่านท่าอากาศยานในระยะเเรกเเละขยายสู่ท่าเรือ เเละด่านช่องทางเข้า-ออกระหว่างประเทศ
การเฝ้าระวังในชุมชนเเละโรงพยาบาลโดยเจ้าหน้าที่ทางการเเพทย์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เเละทีมสอบสวนโรคของทุกพื้นที่จำนวนกว่า 1,000 ทีมที่มีความพร้อมในการลงพื้นที่ในการสอบสวนโรค ทำให้ไทยควบคุมการแพร่ระบาดได้ การสื่อสารข้อมูลแก่ประชาชนผ่านเครือข่ายสื่อสาธารณะในหลายช่องทางที่ชัดเจน สม่ำเสมอเเละเป็นทิศทางเดียวกัน พร้อมกับการสำรวจพฤติกรรมเเละทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรการเเละปรับการสื่อสารที่ตรงเป้าหมายมากยิ่งขึ้น การดูเเลจัดการ เเละพัฒนาศักยภาพของสถานพยาบาล เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉิน โดยได้พัฒนาแนวทางเเละการจัดเตรียมสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ให้เพียงพอและพร้อมใช้งานได้ทันที
นายเเพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับคำชื่นชมในหลายประเด็นของแต่ละเสาหลัก แต่ก็ยังมีประเด็นที่ไทยต้องพัฒนาเพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมายที่มีอยู่เเล้ว จำเป็นต้องมีการทบทวนเเละพัฒนาให้ครอบคลุมมากขึ้น การพัฒนาเเละรวมระบบบริหารจัดการส่วนกลางด้านข้อมูล อาทิ ผลทางห้องปฏิบัติการ รายงานการเฝ้าระวังสอบสวนโรค ข้อมูลทรัพยากรทางการแพทย์และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการได้อย่างสูงสุดโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในปฏิบัติการนี้ด้วย รวมถึงการขยายและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทีมสอบสวนโรคให้มากขึ้น เพื่อรองรับการระบาดระลอกสองที่อาจมีขึ้น และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ทีมจาก WHO องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ยังให้ข้อเสนอแนะอีกว่าประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในกลุ่มเสี่ยงที่มีภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพ คือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เด็กเล็ก และกลุ่มเปราะบางให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและทั่วถึง ปัจจุบันการทำงานของไทยมีความเกี่ยวพันกับหลายส่วน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพภายใต้ภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 และโรคอื่นๆ ให้กับประชาชนที่อยู่ในประเทศ ทั้งนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรนอกภาครัฐ และประชาชนทุกคนยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันควบคุมโรค ความสำเร็จที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดได้นั้น เกิดได้จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน ไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้