น้ำดื่มผสมวิตามินมาแรง! บิ๊กแบรนด์เขย่าบัลลังก์ผู้นำ "ยันฮี วิตามิน วอเตอร์" ตั้งการ์ดสู้ !
เมื่อน้ำดื่มผสมวิตามิน ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง มีแบรนด์ที่ "บุกเบิก" ตลาด ปูทางสร้าวการรับรู้ให้กลุ่มเป้าหมายอย่างดี ผลักดันมูลค่าตลาดแตะ 5,500 ล้านบาท ถึงเวลา "ขาใหญ่" ลงสนาม ส่องกลยุทธ์ "ยันฮี วิตามิน วอเตอร์" ผู้นำตั้งรับอย่างไร?
“ยันฮี วิตามิน วอเตอร์” (Yanhee Vitamin Water) ถือเป็นผู้เล่นแรกที่บุกเบิกตลาดน้ำดื่มผสมวิตามิน ซุ่มเงียบทำตลาดตั้งแต่ปี 2557 แต่ปัจจุบันตลาดที่เติบโตเร็วและมีมูลค่าแตะ 5,500 ล้านบาท ทำให้ “รายใหญ่” กระโดดเข้ามาแบ่งเค้กมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับรวมแล้ว 5-6 แบรนด์ เช่น กู๊ดมู้ด, บลู, วิตอะเดย์, พีเอชพลัส, เอทพลัส และยังมี “ยักษ์ใหญ่” เครื่องดื่มเตรียมเข้ามาอีกในเร็ววัน
จากตลาดน่านน้ำสีคราม(Blue Ocean) แปรเปลี่ยนเป็นทะเลแดงเดือด(Red Ocean)เพราะแบรนด์หน้าใหม่หากต้องการ “ส่วนแบ่งทางการตลาด” ต้องดั๊มพ์ราคาเข้าขับเคี่ยว “ผู้นำ” จึงอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องตั้งการ์ดป้องกัน “คู่แข่ง”
เจษฎา อุดมถิรพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด เดินสายพบสื่อหลายสำนัก เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของสินค้าและแบรนด์ “ยันฮี วิตามิน วอเตอร์” ที่เกิดจากคุณหมอโรงพยาบาลยันฮี ผลิตขึ้นมาเพื่อดูแลผู้ป่วยยามพักฟื้น กินยายาก จากการแก้ Pain point ผู้ป่วยดื่มแล้วสดชื่น ลูกค้าทั่วไปพบเจอและซื้อกลับบ้าน พ่อค้าแม่ขายซื้อไปจำหน่าย จึงพัฒนาไปสู่การผลิตสินค้าเชิงพาณิชย์ โดยใช้โรงงานที่ผลิตสมุนไพรของโรงพยาบาลผลิตสินค้ากำลังผลิตเพียงพอต่อความต้องการตลาด
จากช่องทางจำหน่ายโรงพยาบาล ไปสู่ร้านค้าทั่วไป และเพิ่มการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายด้วยการเจาะห้างค้าปลีกสมัยใหม่(โมเดิร์นเทรด) ร้านสะดวกซื้อ สินค้าจึงได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง แต่การทำตลาดของแบรนด์ยังคงเน้นค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ “เชิงรุก”(Aggressive) กระทั่ง “คู่แข่ง” ตบเท้าเข้ามาทำตลาดมากขึ้น และมาพร้อม “กระสุนทุน” คืองบการตลาด และอาวุธ กลยุทธ์ครบมือ ที่สำคัญ “ผู้ท้าชิง” แต่ละราย ประกาศเป้าหมายอดขายหลัก “พันล้านบาท” ทั้งสิ้น
การป้องกันแชมป์ และส่วนแบ่งการตลาดของ “ยันฮี วิตามิน วอเตอร์” ต้องตั้งท่าอย่างไร “เจษฎา” ยอมรับด่านแรกในการทำตลาดโจทย์ยากสุด คือการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่การเปลี่ยนใจ..ง่าย และเกิดขึ้นตลอดเวลา การจะนำเสนอสินค้า หมัดฮุคการตลาดได้ตรงใจ แบรนด์ต้อง “เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค” ให้ได้เสียก่อน และต้องลึก(Insight)ด้วย
“ต้องเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค คำตอบพื้นฐาน แต่เป็นเรื่องยากมาก ด้วยอารณ์ผู้บริโภค บางครั้งชอบสิ่งนี้ พออยู่หน้าชั้นวางสินค้า(เชลฟ์)เปลี่ยนใจ ลูกค้าปัจจุบันเป็นแบบนั้น วันนี้อยากบริโภคสิ่งนี้ พรุ่งนี้บริโภคอีกอย่าง” เขาย้ำความซับซ้อนของพฤติกรรมลูกค้า (Sophisicated)
ขณะที่การมัดใจกลุ่มเป้าหมายให้อยู่หมัด มุ่งย้ำจุดยืนที่ถือเป็น “รากฐาน” ของผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์โดยโรงพยาบาล และมุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภค “รักสุขภาพ” ซึ่งถือเป็น “เทรนด์” ที่มาแรงมาก ยิ่งเกิดโรคโควิด-19 ระบาดการมีสุขภาพดีกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนตระหนักมากขึ้น เพราะอนาคตยากจะคาดการณ์จะเกิดโรคอุบัติใหม่ใดกระทบชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอีกระลอก จึงต้องสร้างภูมิต้านทานไว้ก่อน
นอกจากนี้ การสื่อสารตลาดจะมุ่งเจาะคนรุ่นใหม่มากขึ้น รวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะ(Personalize)ผ่านสื่อออนไลน์หลากแพลตฟอร์ม จากเดิมเน้นทำตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพในวงกว้าง ขณะที่ “คู่แข่ง” เดิมเกมใช้พรีเซ็นเตอร์สร้างแบรนด์ กลยุทธ์หั่นราคา รวมถึงจับกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจง
“เดิมเรามาในสายโรงพยาบาล ไม่เน้นคอมเมอร์เชียล แต่คู่แข่งลงสนามในมิติการค้า เราจึงเดินหน้ารุกตลาด ทำให้เสียงดังมากขึ้น แม้เราจะเป็นผู้บุกเบิกน้ำดื่มผสมวิตามิน มีแคมเปญการตลาด โฆษณาสื่อสารตลาดและสร้างการรับรู้แบรนด์ แต่จากนี้ไปจะปรับให้ทันสมัย รวมถึงการขยายฐานสู่ออนไลน์ ทำเพอร์ซันนอลไลท์ลงลึกผู้บริโภคเป้าหมายเป็นกลุ่มๆมากขึ้น และเจาะคนรุ่นใหม่”
เป้าหมายการเดินเกมรุก “เจษฎา” หวังเห็นแบรนด์ยันฮี วิตามิน วอเตอร์นั่งหนึ่งในใจของผู้บริโภค(Top of Mind) ส่วนบังลังก์ “ผู้นำ” แม้จะเอ่ยปากไม่มองจุดนั้นเพราะเชื่อว่าตำแหน่งแชมป์ไม่อยู่ค้ำฟ้า หลายแบรนด์สินค้าในตลาดมีให้เห็นนักต่อนัก เกิดก่อนและ “ดับ” ไปมากมาย
“เรามองรากฐานของสินค้าที่ตอบโจทย์สุขภาพผู้บริโภคในระยะยาว”
ตลาดเครื่องดื่มเป็นอีกกลุ่มที่แข่งขันรุนแรง เพราะต้องแย่ง Share of Throat ซึ่งปัจจุบันตลาดใหญ่ได้แก่ น้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ขณะที่น้ำผสมวิตามินซึ่งเป็นขาขึ้น คาดการณ์ 3 ปี มีโอกาสโตแตะ “หมื่นล้านบาท” ผู้ประกอบการยังคาดหวังเห็นมีสัดส่วน 30% ของตลาดน้ำดื่มเทียบเท่ากับตลาดญี่ปุ่นด้วย ขณะที่ 6 ปี ของยันฮี วิตามิน วอเตอร์ ถือเป็นผู้นำตลาด โดยทุกปียอดขายมีการเติบโตต่อเนื่องมากกว่าอัตรา 2 หลัก ส่วนไตรมาส 2 ตลาดเครื่องดื่มติดลบ 4% แต่บริษัทยังโตสวนกระแส