กมธ.งบ 64 ไฟเขียวงบวิจัยฯ จัด1.9 หมื่นล้าน ให้ 160 หน่วยงาน

กมธ.งบ 64 ไฟเขียวงบวิจัยฯ จัด1.9 หมื่นล้าน ให้ 160 หน่วยงาน

กมธ.งบฯ หนุนกองทุนวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ปี 64 กว่า 19,000 ล้านบาท จัดสรร 160 หน่วยงาน ให้สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานใน-นอกกระทรวง อว. และรัฐวิสาหกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุกลไกจัดสรรใหม่ลดซ้ำซ้อน ตรวจสอบชัดเจน

รองศาสตราจารย์ ปัทมาวดี โพชนุกูล รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยภายหลังนำคณะผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าประชุมชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2564 ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สภาผู้แทนราษฎร ว่า ปีนี้มีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ราว 19,000 ล้านบาท ตามที่ได้เสนอขอ

โดยมีแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2563-2565 ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และผ่าน ครม. แต่ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ เป็นกรอบในการทํางานโดยเฉพาะจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศ จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการด้วยการลงทุนด้าน ววน. ในสาขาสำคัญ ได้แก่ เกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงและยังสามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก

ดังนั้นงบประมาณกว่า 66% จะเป็นการต่อยอดงานเดิม และ 34% เป็นโครงการใหม่ มีหน่วยรับงบประมาณมากกว่า 160 หน่วยงาน ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานในกระทรวง อว. หน่วยงานนอกกระทรวง อว.และรัฐวิสาหกิจ โดยแบ่งการใช้งบประมาณได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ประมาณ 1 ใน 3 ใช้ในการลงทุนด้าน ววน. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้โอกาสของวิถีใหม่ (นิวนอร์มอล) ได้แก่ โครงการเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน (บีซีจี) เพื่อเตรียมการอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น การพัฒนาพลังงานชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ เกษตรสมัยใหม่และเกษตรแม่นยํา การพัฒนาระบบการแพทย์ที่แม่นยําในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็ง

โครงการใหม่และจุดเน้นในปี 2564 คือ การวิจัยเพื่อผลิตวัคซีนโรคโควิด โครงการพัฒนาการแพทย์ระยะไกลด้วยระบบดิจิทัล และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่ทันสมัยสําหรับวิถีใหม่ โครงการพัฒนาพลังงานทางเลือกและการเก็บพลังงาน โครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และวิจัยด้านเอไอ โครงการยกระดับและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานและระบบมาตรคุณภาพของประเทศ โครงการพัฒนาเอไอเพื่อสร้างซอฟต์แวร์และฐานข้อมูลขนาดใหญ่

ส่งนักวิจัยสำรวจพื้นที่ยากจน

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพประมาณ 500 รายจะได้รับการสนับสนุน ให้ใช้ความรู้และนวัตกรรม เทคโนโลยี การบริหารจัดการสมัยใหม่ คาดว่าจะเกิดการร่วมทุนและลงทุนเพิ่มของเอสเอ็มอีด้านการพัฒนานวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 70 ราย 100 ล้านบาท และเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่ผู้ประการนอกโครงการจะได้ใช้ประโยชน์ได้อีกมาก และเป็นประโยชน์ในระยะยาว ผลพลอยได้คือบัณฑิตที่ตกงานจะได้เข้าสู่ตลาดแรงงานพร้อมกับได้ฝึกทักษะใหม่

ส่วนที่ 2 ในระดับพื้นที่ คุณภาพชีวิตของประชาชนและการแก้โจทย์ท้าทายสังคม จะมีงบประมาณอีกกว่า 1 ใน 3 ที่ผสมผสานเทคโนโลยีกับมิติการจัดการทางสังคม เน้นการปรับตัวในวิถีใหม่ ได้แก่ โครงการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่และชุมชน โครงการพัฒนาคุณภาพอากาศ การจัดการขยะ โครงการสังคมสูงวัย โดยกว่าครึ่งเป็นโครงการใหม่ปี 2564 ได้แก่ โครงการความมั่นคงทางอาหาร โครงการการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อตอบภาวะวิกฤติและโรคอุบัติใหม่

ตลอดจนโครงการแก้ปัญหาความยากจนแบบแม่นยําโดยใช้ข้อมูลที่รัฐมี แต่จะลงสํารวจในพื้นที่เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงและออกแบบนวัตกรรมที่สอดคล้องกับครัวเรือนและชุมชน เช่น การใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน และการพัฒนาเมืองน่าอยู่ รวมแล้วจะทํางานในพื้นที่ 20 จังหวัด วิสาหกิจชุมชนประมาณ 175 ชุมชน 350 ตําบล เกษตรกร 500 ครัวเรือน และ คนจน 1,000 ครัวเรือน จะได้รับประโยชน์ นักวิจัยต้อง ทํางานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่จะต้องขยายผลต่อไป

ส่วนสุดท้ายอีก 1 ใน 3 จะใช้ในการพัฒนาคนและความรู้สู่อนาคต ประชาชนทั่วไปจะมีทักษะสมัยใหม่ ด้วยโครงการ AI for All โครงการบัณฑิตเพื่ออนาคตสนับสนุนให้นักศึกษาวิจัยทํางานกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โครงการคนไทยกับโลกดิจิทัล โครงการการวิจัยแนวหน้าและวิจัยพื้นฐาน เพื่อการผลิตและเตรียมพร้อมสําหรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น เอไอ ควอนตัม

วางกลไกตรวจสอบลดซ้ำซ้อน

“งบประมาณการลงทุนด้าน ววน. จะเป็นพลังต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมเมื่องบเงินกู้หมดไป แต่ความรู้และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะใช้ได้อย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี กองทุน ววน. จะสนับสนุนและทํางานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตจริง เช่น กระทรวงดีอีเอสทําให้ประเทศมีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้านเอไอ การทํางานกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา การสนับสนุนการวิจัยของกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงสาธารณสุขให้สามารถตอบพันธกิจของหน่วยงานได้ดีขึ้น เป็นต้น”

รศ.ปัทมาวดี กล่าวอีกว่า งบประมาณจำนวนนี้จึงถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์โควิดและหลังโควิด โดยจะเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยรับทุนกว่า 160 หน่วยงาน จะพิจารณาความสอดคล้องกับแผนด้าน ววน. ทําให้การจัดสรรงบประมาณมีเป้าหมายและทิศทาง กองทุนและหน่วยบริหารจัดการทุนจะตรวจสอบโครงการ ลดความซ้ำซ้อน ในขณะที่บูรณาการเป้าหมายโครงการของหน่วยรับทุนต่างๆ เทียบกับเป้าหมายตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ตามแผน มีระบบติดตามประเมินผล ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ เพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน