ไทยเร่งดัน ‘อีอีซีไอ’ ศูนย์กลางเทคโนฯ อาเซียน

ไทยเร่งดัน ‘อีอีซีไอ’ ศูนย์กลางเทคโนฯ อาเซียน

ภารกิจสำคัญ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กับการเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนิวเอสเคิร์ฟในอีอีซี ร่วมมือผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามายังอีอีซีไอ เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์แหล่งอุตสาหกรรมลงทุนผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงของอาเซียน

ภารกิจแรกภายใต้หมวกใบใหม่ของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงพื้นที่สถาบันวิทยสิริเมธี (วิสเทค) เดินหน้าสำรวจนวัตกรรมที่คนไทยผลิต นำไปสู่การต่อยอดเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)

159838846499

“วิสเทค” เป็นสถาบันศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุดล้ำสมัยที่หลากหลาย ทั้งเทคโนโลยีเสมือนจริง คลาวด์คอมพิวติ้ง หุ่นยนต์เพื่อการผลิต แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง และโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ตั้งอยู่ในทำเลรายล้อมไปด้วยธรรมชาติแสนบริสุทธิ์บนพื้นที่กว่า 3 พันไร่ของ “วังจันทร์ วัลเลย์” ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ดินของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

วังจันทร์ วัลเลย์ อยู่ในแผนของภาครัฐภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอีอีซี เพื่อยกระดับพื้นที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย และพัฒนาวังจันทร์ วัลเลย์ ไปสู่การเป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Innovation : EECi) ก้าวไปสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมของอาเซียน 

ดอน กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญที่ช่วยผลักดันศักยภาพอีอีซี ให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และสร้างโอกาสให้เมกะโปรเจคแห่งนี้ได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาประเทศ 

บรรยากาศการลงทุนและการต่างประเทศ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เอื้อต่อการลงทุน และเป็นสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมตอกย้ำความเชื่อมั่นต่างชาติ อย่างการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง รู้สึกมั่นใจในเสถียรภาพประเทศไทย และสนใจในอีอีซี นำไปสู่การเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (HKETO) เมื่อปีที่แล้ว 

กระทรวงพร้อมผลักดันนวัตกรรมที่สร้างสรรค์โดยคนไทย และชักชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนิวเอสเคิร์ฟในอีอีซี รวมไปถึงเชื่อมความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามายังอีอีซีไอ เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ไทยในการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมลงทุนผลิตสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูง

ปกติแล้ว กระทรวงจะใช้การประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ เป็นเวทีนำเสนอโอการการลงทุนในอีอีซีให้ต่างชาติได้รับรู้ และยืนยันว่ามีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในอาเซียน ที่มีประชากรอยู่รวมกันมากกว่า 600 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นเส้นทางจุดเชื่อมโยงโลจิสติกส์กับประเทศอย่างจีน และอินเดีย 

159838896574

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจไทย และทั่วโลกหยุดชะงักไป จึงคาดหวังว่า ไทยจะใช้ความเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และอุตสาหกรรมนิวเอสเคิร์ฟ ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเป็นหน่วยงานหลักแนะนำอีอีซีให้กับต่างชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงทำอยู่และจะทำอย่างเข้มข้นขึ้น ยิ่งการได้ลงพื้นที่ จะช่วยต่อยอดทำให้เห็นภาพ เพื่อเชิญชวนรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาอีอีซีมากขึ้น

ดอนระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจคล้ายกับไทย และพยายามนำเสนอผลักดันให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้วยเช่นกัน ก็เป็นธรรมดาที่ต้องมีการแข่งขัน แต่เชื่อว่าไทยสามารถชูอีอีซีไอสร้างความแตกต่าง และดึงดูดนักลงทุน ให้เห็นว่าไทยมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และมีที่ตั้งติดทะเล เอื้อต่อการค้าการลงทุน

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาวิสเทค มองว่า อีอีซีไอมีศักยภาพสามารถเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีการผลิตของอาเซียนได้ ปัจจุบันแหล่งรวมความโดดเด่นเทคโนโลยีแห่งใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์ ขณะที่เวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่าจับตา

“สำหรับวังจันทร์ วัลเลย์  ตั้งอยู่ในอีอีซีไอ ก็สามารถพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในอาเซียน เหมือนกับที่จีนผลักดันเสิ่นเจิ้น วัลเลย์เป็นศูนย์ไฮเทคในเอเชีย” ไพรินทร์ระบุ

159843053625

เมื่อเปรียบเทียบจีดีพีต่อหัวของพื้นที่ 3 จังหวัดในอีอีซี กับเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (เกรเตอร์ เบย์ แอเรีย) ที่เสิ่นเจิ้น วัลเลย์ตั้งอยู่ จะเห็นว่า จีดีพีต่อหัวในอีอีซีมีความใกล้เคียงกัน หากมองเฉพาะ จ.ระยอง พบว่ามีจีดีพีต่อหัวอยู่ในระดับเดียวกับเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ สะท้อนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในตอนท้าย ไพรินทร์ ชี้ว่า ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี 5จี และทำเลที่ตั้งจะเป็นจุดแข็งของไทย หากในอนาคต สหรัฐกับจีนมีปัญหาสงครามการค้า เมื่อต่างชาติต้องพิจารณาย้ายฐานการผลิต เชื่อมั่นว่า อีอีซีจะเป็นพื้นที่ตอบโจทย์นักลงทุนต่างชาติได้อย่างดีเยี่ยม