ฟังเสียง จาก ‘การเมือง’ 3 ฝ่ายถึงหน้าตาของ 'ประเทศไทย' ในวันพรุ่งนี้
ทำความเข้าใจ "การเมือง" ต่างฝ่าย จากกรณี ประท้วง ที่กำลังเป็นกระแสทั้งในสังคม และบนโลกออนไลน์ กับคำถามถึงประเทศไทยในวันพรุ่งนี้จะหาทางออกจากปัญหานี้อย่างไร
นับตั้งแต่การชุมนุมในนามประชาชนปลดแอก ไปจนถึงการชู 3 นิ้วในรั้วโรงเรียน การลุกขึ้นมารวมกลุ่มของนักเรียนที่หน้ากระทรวงศึกษาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา การรณรงค์แบนสปอนเซอร์สื่อมวลชน หรือการฟ้องรัฐบาลของเฟซบุ๊ค จากการกดดันเรื่องการปิดกลุ่ม รอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส จนถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเมือง กำลังกระเพื่อมผลกระทบไปยังทุกส่วนของสังคม
นอกจากการออกตัวในแง่ของคำพูด ความเคลื่อนไหว ข้อความเชิงสัญลักษณ์ก็ถูกแสดงออกในรูปแบบต่างๆ อย่างแพร่หลายทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย
“อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” เป็นข้อความแรกๆ ที่ปรากฏขึ้นมาหลังจากการชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อไม่กี่วันก่อน และอีกหลายแห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ไม่ต่างจากตัวแทนของการย้ำจุดยืน 3 ข้อหลัก คือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยุบสภา โดยตั้งอยู่บน 2 หลักการที่ว่า ต้องไม่มีการรัฐประหารและการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ภายใต้ 1 ความฝันคือ การมี “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างแท้จริง
“รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” เป็นตัวแทนการแสดงออกของอีกกลุ่มคนที่มองไม่เหมือนกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเป็นการชูประเด็นเรื่องของการปกป้องสถาบัน และไม่ยอมให้สถาบันถูกก้าวล่วงในรูปแบบต่างๆ
และคนอีกกลุ่มที่ติดข้อความว่า “รักประเทศไทยเหมือนเธอนั่นแหละ”
เมื่อ “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ปรากฏการณ์ขั้นต้นของความหลากหลาย และข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เริ่มกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ถือโอกาศชวน คนธรรมดาที่ทั้งเห็นด้วย และเห็นต่างกับกลุ่มความคิดการเมืองมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองโดยมี จุดร่วม และทางออก เป็นคำถามสำคัญของสังคมไทยในวันนี้
- อำนาจอธิปไตยควรเป็นของประชาชน
“ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราอยากให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่อยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างทุกวันนี้” ความตั้งใจที่เจ้าตัวอยากจะสื่อความหมายในวันที่อารมณ์ร่วมทางการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยกำลังคุกรุน
เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งเขาเคยเชื่อเรื่องการเมืองแบบสีเสื้อ และแสดงจุดยืนชัดเจนถึงการปกป้องสถาบัน หลังจากขึ้นไปลงหลักปักฐานที่เชียงรายจึงได้มีโอกาสทำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่าง เพราะอยากเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี
“การที่อำนาจอยู่ในมือของกลุ่มบุคคล ไม่มีการกระจายอำนาจที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง หรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงอย่างที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือ งบประมาณต่างๆ ถูกใช้โดยไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนเท่าที่ควร ดูง่ายๆ อย่างการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จนถึงวันนี้ หลายๆ แห่งก็ยังไม่มีน้ำสะอาด หรือ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งๆ ที่เงินที่ประชาชนเสียภาษี เขาก็ควรจะได้ใช้ประโยชน์จากภาษีที่เขาเสียไปด้วย”
เขามองว่า ถ้าการเมืองดี ทุกคนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี การเมืองดีควรต้องเริ่มจากการสร้างกติกาที่ดีโดยยึดประโยชน์แก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ ถ้ารัฐธรรมนูญดี ข้าราชการก็จะอยู่ในครรลองที่ดี ตำรวจ ทหาร นักการเมืองก็จะดีตามไปทั้งหมด
ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ถูกมองว่าค่อนข้างอ่อนไหว เขาอธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของการที่สถาบันมีส่วนร่วมกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการลดทอนอำนาจอย่างที่มีความพยายามสื่อสารกัน ซึ่งถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะทำให้ทุกชนชั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้
“ก็มาคุยกันสิ มันเป็นแค่เสียงสะท้อนจากประชาชนเท่านั้นเอง คุณลองคิดดูนะ ถ้าเราถูกกดไปเรื่อยๆ สักวันมันก็จะระเบิด เปรียบเทียบกับบริษัท พนักงานไม่ได้ไม่รักองค์กร แต่จะขอแค่ความเห็นใจเอง แล้วคุณยังไม่ฟังเลย ไม่ใช่เอาแต่บอกว่า ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ออกไป เราว่ามันไม่ใช่ เอาจริงๆ ปฏิรูปมันดีกว่าปฏิวัติอยู่แล้วล่ะ มาคุยกันแล้วเปลี่ยนแปลงไปด้วยกันไม่ดีกว่าเหรอ จริงไหม”
- ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเหรียญอีกด้านที่มองไม่เห็น
“เอาจริงๆ ความเห็นในสื่อออนไลน์มันก็มีหลากหลายนะ เราก็แค่ต้องการแสดงออกในสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมา” คำอธิบายสั้นๆ ของคนที่สวมเครื่องแบบ เจ้าตัวยอมรับว่า ด้วยความที่โตขึ้นมาในครอบครัวทหาร และตัวเองก็ถือเป็นคนในเครื่องแบบรุ่นที่ 3 ทำให้ได้เห็น และได้สัมผัส หรือรับรู้อาจจะลึกกว่าคนอื่นๆ จึงอยากทำให้หน้าคอยสะกิดให้ฉุกคิดถึงข้อมูลต่างๆ ที่กำลังกระจัดกระจายอยู่ในตอนนี้ และฟังให้รอบด้าน
โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามองว่า การออกมาของราชวงศ์นั้น ก็เพื่อเป็นประโยชน์โดยรวมของประชาชนมากกว่า เราก็อยากนำเสนอเรื่องนี้ให้ได้คิดถึงกันด้วย ไม่ได้ห้าม หรือบังคับนะว่าทุกคนต้องชอบ หรือต้องเชื่อเหมือนอย่างที่เราเชื่อ แต่แค่อยากให้ลองตั้งคำถามดูเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงแสดงออกถึงความรักชาติอย่างเต็มตัวแบบนี้”
เขาคิดว่า ความเคลื่อนไหวของการเมืองในกำลังเป็นกระแสที่ทำท่าจะร้อนแรงขึ้นทุกขณะในตอนนี้นั้น ย่อมต้องมีกระบวนการจัดการ หรือการโน้มน้าวชักจูงจากกลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงอยู่
“ไม่ได้บอกว่า กลุ่มผู้ชุมนุมถูกชักจูงทั้งหมดนะ เราเชื่อว่านักเรียน นักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องนั้น หลายคนมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่มองเห็นโอกาสตรงนี้ ชักจูง หรือกระทั่งเบี่ยงเบนประเด็นโดยใช้บรรดาคนรุ่นใหม่เป็นกระบอกเสียง ผ่านการปลูกฝังมา เหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่มีความพยายามปลุกปั่นผ่านทางระบบบริการสุขภาพอย่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งพอฟังบ่อยเข้า รับข้อมูลบ่อยเข้ามันก็ซึม”
หรืออย่างที่มาที่ไปของการที่ถูกเรียกว่า กลุ่มอำนาจนิยมนั้น เขารู้สึกว่าก็ต้องถามกลับเหมือนกันว่า ที่ผ่านมาเพราะอะไร ก่อนที่จะเป็นอำนาจนิยมขึ้นมาต่างทำอะไรกันขึ้นมา ผลทุกสิ่งล้วนมาจากเหตุ ซึ่งนี่คือ ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
“ใครที่มีอำนาจขึ้นมาก็โกงทั้งนั้น เราไม่ได้พูดว่าไม่มีใครโกงนะ ตอนนั้นโกงไง อำนาจมันก็เลยขึ้นมา”
จนมาถึงตอนนี้ เขาไม่ปฏิเสธว่า สถานการณ์ดูเหมือนจะเริ่มเลวร้ายลง แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า หากฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ยอมอ่อนลงอย่างทุกวันนี้นั้น ความรุนแรงอาจจะเริ่มปะทุขึ้นมาไปนานแล้ว หรือการเอาเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นหนึ่งในเงื่อนไข เจ้าตัวก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีมูล แต่ขณะเดียวกัน หากมองภาพรวมของเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ทั่วโลกในวันนี้มีประเทศไหนที่เศรษฐกิจดีอยู่บ้าง โดยเฉพาะวันที่เทคโนโลยีกำลังไล่ตามอยู่ทุกฝีก้าว ถ้าไม่ปรับตัวก็จะถูกกระแสของความเปลี่ยนแปลงกลบหายไปอยู่ดี ประเทศไทยก็ไม่ต่างกัน
“ทั้งหมดมันก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด ต้องให้น้ำหนักในการแยกแยะ และพิจารณาด้วย”
- ก็เพราะ รักประเทศไทยเหมือนเธอนั่นแหละ
“ถึงจะวิธีคิดต่างกัน ยังไงทั้ง 2 ฝ่ายก็มีจุดร่วมเดียวกันนั่นแหละ” มุมของคนที่ถูกจัดข้างขั้วที่ 3 หรือถูกประณามว่าเป็นพวกนิ่งเฉยกับบ้านเมืองสะท้อนความเห็นต่อสถานการณ์การเมือง และการชุมนุมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทั้งหมดก็ด้วยความปราถนาดีกับ ประเทศไทย ทั้งนั้น
ในสายตาของครูบาอาจารย์ในรั้วสถาบันการศึกษา ซึ่งอยู่ท่ามกลางกลุ่มความคิดทางการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย สิ่งที่ “ขั้วที่ 3” อย่างเขามองก็คือ สถานการณ์ตอนนี้เป็นการช่วงชิงมวลชนด้วยข้อมูลที่ต่างฝ่ายต่างมีอยู่ในมือ
“กลุ่มที่ออกมาขับเคลื่อนเรียกร้องในครั้งนี้จะเห็นได้ว่ามีความค่อนข้างคละอายุกันอยู่ ถ้าไม่เด็กเลย ก็แก่เลย กลุ่มวัยกลางคนจะไม่ค่อยออกเท่าไหร่ มองในมุมของเด็กๆ เราจะเห็นว่าก็เพราะมันเป็นอนาคตที่พวกเขาต้องอยู่ไปอีกนาน ดังนั้นมันก็ควรจะเป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถกำหนดเองได้ ขณะที่ฝ่ายอำนาจก็มีความหวั่นเกรง และรู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคง ขณะที่คนที่คละกลุ่มกันอยู่อย่างเราก็ถูกผลักออกไปอีกฝ่ายกลายเป็นอีกขั้ว”
เขามองว่า นี่เป็นความน่าเบื่อที่อยู่ในใจของกลุ่มคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกเรื่องกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ต่างฝ่ายต่างย้ำว่าพร้อมเปิดใจรับฟัง แต่ต้องอยู่ในเงือนไข และกติกาที่ฝ่ายตัวเองกำหนดเท่านั้น
“ทำไมเราถึงเอาข้อเสนอของทั้ง 2 ฝ่ายมารวมกันไม่ได้ ถ้าในเมื่อพวกคุณบอกว่า ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และมีอนาคตที่ดี”
เขายืนยันว่า การถอยกันคนละก้าว น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหาทางออก หรือยุติไม่ให้สถานการณ์ไปจบแบบล้มทั้งกระดานเหมือนอย่างครั้งที่ผ่านมาอีก แนวโน้มที่เริ่มเห็นได้ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือ ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหา ดังนั้น ก้าวแรกของความเปลี่ยนแปลงจึงต้องเริ่มแก้ที่เรื่องที่แก้ได้อย่างการเมืองก่อน
“เราเห็นด้วยนะที่เด็ก หรือคนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นมาเป็นคนกำหนดชะตากรรมของประเทศ ไม่ใช่ให้คนที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้อีกกี่ปีมาเป็นผู้กำหนด แต่เด็กก็ต้องคละกับผู้ใหญ่ เพราะประสบการณ์ของคนที่เกิดก่อนก็เป็นสิ่งจำเป็น วุฒิภาวะ หรือการตัดสินใจที่จะช่วยให้มองเห็นภาพของความเปลี่ยนแปลงได้รอบด้านขึ้น ไม่ใช่ใครไม่เห็นด้วยก็ผลักเขาไปอยู่ฝ่ายตรวข้ามกันหมด”
เจ้าตัวยอมรับว่า นี่ค่อนข้างจะเป็นวิธีคิดที่เป็นอุดมคติอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากทุกฝ่ายยอมถอย
“เราเคยได้ยินมาว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เราเชื่อว่ามันจะแก้ไขได้ด้วยกระบวนการ เพียงแค่รอเวลาที่เหมาะสม เพราะจริงๆ สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องคิด และตอบให้ได้ก็คือ พวกคุณเตรียมกระบวนการจัดการเพื่อรองรับหลังความเปลี่ยนแปลงเอาไว้แล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นกลไกทางสังคมที่จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้”
ทั้งหมดเขามองว่าล้วนเป็นเรื่องที่ต้องคิดทั้งนั้น
- กระดานการเมืองตานี้ มีอะไรซ่อนอยู่
ผลสำรวจจากนิด้าโพล ในหัวข้อ ม็อบกลุ่มประชาชนปลดแอก ที่ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับว่า มีความกังวล โดยเฉพาะเรื่องของความรุนแรง และการแทรกแซงของมือที่ 3 พอๆ กับการมองว่า ควรรับฟังปัญหาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ยุบสภา และแก้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ผศ.ศาสตรินทร์ ตันสุน จากภาควิชารัฐศาสตร์ฯ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ มองปรากฏการณ์การเมืองเชิงสัญลักษณ์เหล่านี้ เป็นพัฒนาการของการแสดงออกที่ต่างยอมรับกัน และไม่ได้มีแค่สีหรือสัญลักษณ์อย่าง มือตบ ตีนตบ นกหวีด หรืออะไรต่างๆ ที่ผ่านมา และทำให้เห็นว่าการใช้กรอบไหนมาใส่มีมากน้อยแค่ไหนในการพัฒนาไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง
"ใช่ครับ มันไม่ต่างจากการวัดกำลังกันกลายๆ" เขาสรุป
หากย้อนไปที่เรื่องของความกังวลเรื่องความรุนแรงจากผลสำรวจ ในสายตานักรัฐศาสตร์อย่างเขายอมรับว่า มีโอกาสที่จะเกิดการกระทบกระทั่งกัน แต่ก็มีกระบวนการจัดการเพื่อไม่นำไปสู่เหตุรุนแรง ซึ่งตอลดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมาก็จะยังไม่เห็นภาพความรุนแรงเกิดขึ้น
พอๆ กับทางออกที่วันนี้ หลายๆ คนต่างตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการหาทางออกร่วมกัน ที่ไม่นำไปสู่ทางตัน หรือการล้มโต๊ะเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามต่างมองตรงกันว่า หากสถานการณ์เกิดเงื่อนไขจนเดินไปสู่ทางตันเดิมอีกครั้ง ไม่ว่าใครก็ไม่รอดจากวิกฤตครั้งนี้
"ทางออกมีอยู่ แต่ทุกคนต้องยอมรับว่า ไม่มีใครได้ทั้งหมด" ผศ.ศาสตรินทร์ ยืนยัน สิ่งที่เป็นไปได้ก็คือ เรื่องของการหาจุดร่วม
ในตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ขณะที่รายละเอียดการแก้ไขนั้นก็ต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งจนถึงขณะนี้นั้น ทุกฝ่ายต่างพยายามสร้างแนวทางเพื่อนำไปสู่การคุยตามกติกาอยู่
"ที่ต้องระวังก็คือเรื่องของประเด็นในการหยิบขึ้นมาพูดคุยกัน คนในกรอบเดียวกันเองต้องตกลงกันให้ชัดก่อนว่าจะคุยเรื่องอะไร ให้เป็นเอกภาพ ประเด็นจะได้ไม่สะเปะสะปะเป็นเบี้ยหัวแตก ซึ่งการหาจุดร่วมเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาถือเป็นเงื่อนไขสำคัญ หากไม่สามารถหาข้อสรุปในกรอบนี้ได้ก็อาจจะมีสัญญะเรื่องของการเกิดรัฐประหารเข้ามาแทรกในที่สุด ถ้าชุมนุมมีความยืดเยื้อเกิดขึ้น มี 2 ฝ่ายที่ไม่ยอมกัน ในที่สุดก็จะผลักให้ทหารอาชีพมาเบรก และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เมื่อทหารออกมา แต่นักศึกษายังคึกอยู่ เด็กๆ ยังมีพลังอยู่ แล้วถ้าพวกเขาไม่ยอมขึ้นมาจะเป็นยังไง ตรงนี้ก็น่าเป็นห่วง"
ประโยคสร้างความเกลียดชัง หรือ Hate speech ก็เป็นอีกเรื่องที่เขาอยากให้ทุกฝ่ายคิดถึงให้มาก หากต้องการกระบวนการจัดการที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การปล่อยวางอารมณ์ แล้วเอาเหตุและผลมาถกเพื่อหาคำตอบกันเป็นสิ่งจำเป็น เพราะที่ผ่านมานั้น เราต่างได้รับบาดแผลจากคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง หรือการเหยียดเพศสภาพในลักษณะต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้ และก้าวข้ามไปให้ได้
เพื่อให้กระดานการเมืองตานี้ทุกคนจะกลายเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง