อาเซียนเปิดใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ก.ย.นี้
‘พาณิชย์’ เผย สมาชิกอาเซียนให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน ครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว เตรียมเปิดใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน 20 ก.ย. นี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ อาเซียนได้จัดประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA Council ผ่านระบบ Video Conference โดยมีนาย สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ซึ่งที่ประชุมแจ้งว่า ขณะนี้สมาชิกอาเซียนได้ให้สัตยาบันพิธีสารฉบับที่ 1 เพื่อแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน ครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว ซึ่งพิธีสารดังกล่าวมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนให้รองรับการใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน และจะเปิดใช้ระบบดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของอาเซียน และเป็นประเด็นที่ไทยผลักดันมาโดยตลอด เพราะเห็นว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถดำเนินการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขอรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป จึงช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน (Form D) จึงขอให้ภาคเอกชนเตรียมความพร้อม และศึกษาแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านวิธีปฏิบัติด้านหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและความรู้ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า
นางอรมน กล่าวว่า เมื่อระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนมีผลใช้บังคับ จะถือเป็นการสิ้นสุดการดำเนินการโครงการนำร่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ทั้งโครงการที่ 1 (สมาชิกประกอบด้วย ไทย บรูไน สิงคโปร์ เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย) และโครงการที่ 2 (สมาชิกประกอบด้วย ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว และเวียดนาม) และจากข้อมูลสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้โครงการนำร่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองทั้ง 2 โครงการ พบว่าไทยเป็นประเทศที่มีผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยไทยมีจำนวนผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 334 ราย อันดับที่ 2 มาเลเซีย 212 ราย และอันดับที่ 3 สิงคโปร์ 78 ราย