กรมการข้าวติวเข้ม ศูนย์ข้าวชุมชนทุ่งกุลาร้องไห้ หวังเพิ่มศักยภาพผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์
กรมการข้าว นำทีมคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2563
ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ดและศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม ด้านประธานศูนย์ข้าวชุมชนเรียกร้องให้รัฐช่วยดูแลด้านการตลาดข้าวหอมอินทรีย์ หลังราคาไม่ต่างจากข้าวหอมทั่วไป
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.-1 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมากรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร นำโดยนายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นายทัศนะ ลาภลอย ที่ปรึกษากรมการข้าว และคณะผู้บริหารกรมการข้าวนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จ.ร้อยเอ็ดและมหาสารคามเพื่อเยี่ยมชมศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปี 2563
โดยจุดแรกเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่บ้านโนนสวรรค์ ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จากนั้นมาเยี่ยมชมการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวของกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ต.หนองบัวแก้ว อ.พยักคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวภายหลังการนำเยี่ยมชมศูนย์ดังกล่าว โดยระบุว่า การผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดเป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมข้าวในโรงเก็บเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าว การผลิตข้าวอินทรีย์นอกจากจะทำให้ได้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยจากสารพิษแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนอีกด้วย
“ศูนย์ข้าวชุมชนเรามีทั้งหมด 2 พันกว่าแห่งสำหรับปี2563 นี้เราตั้งเป้าไว้ 400 ศูนย์ ศุนย์ละ 100 ตันในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีประภัตร โพธสุธนท่านบอกว่าอยากให้ผลิตข้าวหอมมะลิก่อน อันที่สองข้าวหอมอันที่สามข้าวแข็ง อันที่สี่ข้าวนุ่มและอันที่ห้าข้าวเหนียว โดยเฉพาะข้าวนุ่มขณะนี้ต่างประเทศมีความต้อิงการมาก จึงได้ประสานงานกับทางสมาคมข้าวถุงสมาคมโรงสีข้าว สมาคมผู้ส่งออกและกระทรวงพาณิชย์ด้วยมาดูแลเรื่องการตลาด”อธิบดีกรมการข้าวกล่าว
นายคารมย์ ขุนหล้า ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด กล่าวเสริมว่า วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ก่อตั้งขึ้น ปี 2555 เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรในชุมชน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข.15 เพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์จําหน่ายภายในชุมชน และเก็บไว้เพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป
ต่อมาปี 2562 กลุ่มเกษตรกรได้สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2563 เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและกระจายเมล็ดให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับใช้ภายในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อลดต้นทุนในการผลิต กระจายเมล็ดพันธุ์ดีสู่ชาวนาอย่างทั่วถึงและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาข้าวภายในชุมชน พัฒนาชาวนา และองค์กรชาวนาให้มีความเข้มแข็ง
นางมัสสา โยริบุตร ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้มีการผลิตข้าวจําหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ให้แก่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด มีการแปรรูปข้าวจําหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวหอมมะลิ มีการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ดิน ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ไถกลบตอซังแทนการเผา ปฏิบัติตามเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ข้าวเปลือก (Grain) และเมล็ดพันธุ์ (Seed) มีการใช้เทคโนโลยีเครื่องหยอดข้าวแห้ง ปลูกปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบํารุงดิน การไถดะเพื่อกําจัดวัชพืช การใช้ปูนขาวปรับสภาพดินก่อนการเพาะปลูก ตลอดจนการใช้ปุ๋ยคอกปรับปรุงบํารุงดินเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้
นอกจากนี้ ทางศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวร้อยเอ็ด มีแนวทางส่งเสริมเกษตรกรให้มีการเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมีความต้านทานโดยธรรมชาติ รักษาสมดุลของศัตรูธรรมชาติ การจัดการพืช ดิน และน้ำ ให้ถูกต้องเหมาะสมกับความต้องการของต้นข้าว เพื่อให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ดี มีความสมบูรณ์แข็งแรงตามธรรมชาติ และส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์เพื่อขยายตลาด สินค้าข้าวสุขภาพในแถบเอเชีย ยุโรป และจีน ต่อไป
ด้านนายบุญทอม บุญยรัตน์ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อย ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคามกล่าวว่า ทางศูนย์ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นในการดูแลในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ105
ซึ่งปัจจุบันได้มีการดำเนินกิจกรรมอยู่ 3 อย่างได้แก่ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมคุณภาพ การแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่นการสีข้าวสารบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายในรูปของข้าวเปลือก ซึ่งในอนาคตทางกลุ่มจะมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวหอม ทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น
“อยากเรียกร้องรัฐบาลให้ดูแลราคาข้าวหอมอินทรีย์ด้วย หลังรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวหอมอินทรีย์ พวกเราทำกัน แต่พอผลผลิตออกมากลับขายได้ในราคาไม่ต่างจากข้าวทั่วไป จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาลช่วยให้ตลอด โดยเฉพาะด้านการตลาดข้าวหอมอินทรีย์ และราคาขายก็จะต้องสูงกว่าข้าวหอมทั่วไปด้วย”ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านเก่าน้อยกล่าวย้ำ พร้อมฝากเรื่องนี้ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย