43 ปี มสธ.ตั้งเป้าผู้นำ Online University

43 ปี มสธ.ตั้งเป้าผู้นำ Online University

43 ปี มสธ.กับการเป็นผู้นำ Online University : มหาวิทยาลัย เพื่อชาติชาวประชา จัดการศึกษาเชิงรุก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

ผ่านมาแล้ว 42 ปี กำลังจะก้าวสู่ปีที่ 43 ในวันที่ 5 กันยายน 2563 วันสถาปนา“มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช” หรือ มสธ. แต่ปณิธานยังเดิม นั่นคือ การเป็นมหาวิทยาลัยระบบเปิด ที่จัดการศึกษาทางไกล เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้กระจายไปสู่ภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงทิศทางในอนาคตของ มสธ.ว่า มสธ.ได้เดินหน้าปฏิรูปมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ มสธ.เพื่อให้มหาวิทยาลัยทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น ตามความต้องการของผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนแปลงเป็น วิถีใหม่ หรือ New Normal โดยมหาวิทยาลัยได้มีเตรียมการศึกษาข้อมูลมา 1 ปีเต็ม เพื่อดูว่าอะไรที่ต้องคงไว้ อะไรต้องเปลี่ยน หรืออะไรคือความต้องการใหม่ และอะไรที่ต้องหมดไป

159918313986

ศ.ดร.วิจิตร  กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมีหลายเรื่อง โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการเรียนการสอนซึ่งนักศึกษาก็พึงพอใจมาก  เช่น แผนการศึกษาที่มี 3 แผนคือแผน ก 1 นักศึกษาจะศึกษาด้วยตนเองจากสื่อต่างๆที่มหาวิทยาลัยจัดให้และสอบวัดผลปลายภาคเหมือนเดิม เนื่องจาก มสธ.เปิดมาแล้วถึง 42 ปี มีลูกศิษย์เป็นล้านคน ซึ่งส่วนหนึ่งยอมรับเรื่องการเรียนและจบการศึกษาตามกติกาที่ตกลงไว้ เพราะคิดว่าการเรียนแผนนี้สะดวก

ส่วนแผน ก 2 คือ การจัดการเรียนการสอนรูปแบบที่มีการสอบกลางภาคเพิ่มขึ้นมา มีการสอบเก็บคะแนนถึง 2 ครั้ง ทำให้การเรียนไม่หนักมากจนเกินไป ซึ่งการปรับแผนการศึกษานี้หวังว่าผลการเรียนของผู้เรียนจะดีขึ้น การตกออกจะลดลง และหวังว่าเมื่อผลการเรียนดีผู้เรียนก็จะมาเรียนมากขึ้น และสุดท้ายแผน ก 3 หรือ blended learning ที่เป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน มีกิจกรรมเสริมการเรียน การสอบกลางภาค และการสอบปลายภาค เพื่อเพิ่มอัตราการสำเร็จการศึกษามากขึ้น

159918313879

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เทคโนโลยีที่นำมาพัฒนาสื่อการเรียนการสอนของ มสธ. เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยี คือ หัวใจสำคัญของความสำเร็จ จากเดิมสื่อการเรียนการสอนของ มสธ.จะเน้นสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ หรือแม้แต่สื่อการสอนทางไปรษณีย์ เป็นสื่อหลัก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามปกติ แต่เมื่อมีคอมพิวเตอร์เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยก็นำคอมพิวเตอร์มาช่วยสอน พัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการผลิตสื่อการสอนที่พัฒนาในรูปแบบ Virtual Laboratory หรือ ห้องปฏิบัติการเสมือนจริงบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ  

นายกสภา มสธ. กล่าวอีกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกวงการทั่วโลก แม้แต่วงการศึกษาก็ไม่เว้น ทำให้ต้องมีการปรับการเรียนการสอนกันครั้งใหญ่ ประเทศไทยการเรียนรู้แบบใหม่หรือการเรียนออนไลน์ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง ซึ่ง มสธ.เองก็ถือว่าวิกฤติเป็นโอกาส และกระตุ้นให้ เราต้องเดินหน้าปฏิรูปการเรียนการสอนได้เร็วขึ้น

โดยสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ การจัดสอบออนไลน์ของ มสธ. ซึ่งผ่านไปด้วยดี แม้จะมีปัญหาบ้างในช่วงเริ่มต้น แต่ต้องถือว่าประสบความสำเร็จระดับที่น่าพอใจ เพราะการสอบไม่รั่ว ไม่มีการลอกกันและไม่ล่ม ดังนั้น มสธ.จะเร่งพัฒนาระบบการสอบออนไลน์ให้เป็นระบบถาวร เพื่อลดกระดาษสอบที่ใช้เป็นร้อยตัน หวังว่า มสธ.จะเป็นแห่งแรกที่ทำเรื่องออนไลน์เป็นระบบหลักของการเรียนการสอน เพื่อ เป็นผู้นำ Online University

159918313857

ขณะที่ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า รักษาการอธิการบดี มสธ. เล่าถึงทิศทาง ของ มสธ.ในปีที่ 43 ว่า มสธ.ยังคงยึด 4 คำในการบริหารมหาวิทยาลัย คือ ร่วมคิด ร่วมทำ สร้างสรรค์ และจรรโลง เพื่อเดินหน้าตอบโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปมหาวิทยาลัย โดยเน้นการปฏิรูป 5 ด้านคือ 1.ปฏิรูปแผนการศึกษา เพื่อแก้วิกฤติจากจำนวนนักศึกษาที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ ลดการตกออกของนักศึกษาและธำรงนักศึกษาไว้ให้มากที่สุด

2. ปฏิรูปเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตระหนักดีว่าในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล เราจะผลิตสื่อการเรียนการสอนที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลาด้วยการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ โดยการพัฒนา STOU Media Application เป็นสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก เช่น การทำคลิป ยูทูป ที่นักศึกษาสามารถเปิดดูได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ช่วงการเดินทาง เพราะทุกวันนี้นักศึกษามีสมาร์ทโฟน หรือ โทรศัพท์มือถือใช้กันทุกคนแล้ว

159918314120

3.ปฏิรูปการแก้ไขระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย 4.ปฏิรูปการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เป็นมืออาชีพ มีศักยภาพสูงในด้านการสอนและสนับสนุนวิชาการ และ 5.ปฏิรูปด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยต้องเร่งดำเนินการตามแผนที่วางไว้ 

ศ.ดร.ประสาท  กล่าวอีกว่า สำหรับงานเร่งด่วนของ มสธ.เมื่อเข้าสู่ปีที่ 43 คือ การวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้จำนวนนักศึกษาลดลง โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาตรีที่ปัจจุบันมีจำนวน 78 หลักสูตร มีชุดวิชา 1,600 ชุดวิชา โดยคณะกรรมการเฉพาะกิจที่สภามสธ.ตั้งขึ้น จะวิเคราะห์ว่า 78 หลักสูตร มีหลักสูตรใดบางที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนน้อยมาก หรือบางหลักสูตรอาจจะล้าสมัยแล้ว ขณะเดียวกันต้องตรวจสอบกับตลาดแรงงานและสถานประกอบการด้วยว่ามีหลักสูตรไหนที่ไม่ต้องการแล้ว

รวมถึงวิเคราะห์ความคุ้มทุนของแต่ละหลักสูตรและชุดวิชา ถ้าหลักสูตรไหนไม่คุ้มทุนก็อาจจะต้องยกเลิก แต่หลักสูตรไหนที่ยังมีคนเรียนก็จะต้องดูแลจนสำเร็จการศึกษา หรือมีการควบรวมหลักสูตรที่คล้ายกัน หรือยังเป็นความต้องการของตลาดแรงงานและสถานประกอบการอยู่ สุดท้ายอาจจะเหลือหลักสูตรเพียง 50 หลักสูตรก็ได้ ส่วนชุดวิชาก็อาจจะต้องมาดูว่ามีชุดวิชาไหนที่สามารถเรียนร่วมกันได้บ้าง เช่น วิชาศึกษาทั่วไป เป็นต้น ซึ่งชุดวิชาอาจจะเหลือ 1,400 ชุดวิชา

159918314487

“มสธ.ต้องเร่งวิเคราะห์ข้อมูลว่า หลักสูตรไหนต้องยุบเลิก ต้องปรับปรุง หรือ ต้องเสนอเพิ่มหลักสูตร ชุดวิชาใหม่ที่ทันสมัย ตลาดแรงงานและสถานประกอบการยังต้องการบ้าง แต่การวิเคราะห์ต้องทำอย่างรอบคอบและให้ได้ข้อมูลอย่างถ่องแท้ จากนั้นจะได้เสนอกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพราะเป็นช่วงครบกำหนดที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องปรับปรุงหลักสูตรพอดี กับทั้งพัฒนาหลักสูตร non-degree เพื่อ reskill และ upskill ด้วย ส่วนการสอบออนไลน์ มสธ.จะต้องดำเนินการต่อไป" ศ.ดร.ประสาท กล่าว 

นอกจากนี้ต้องพัฒนาแขนขาของมหาวิทยาลัย คือ ศูนย์วิทยพัฒนา 10 ศูนย์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และอาจขยายเพิ่มเป็น 18 ศูนย์ ตามการจัดกลุ่มจังหวัดในรูปแบบคลัสเตอร์ ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งศูนย์เหล่านี้จะทำหน้าที่รองรับการจัดกิจกรรมเรียนเรียนร่วม ก.3 รวมถึงเป็นสนามสอบออนไลน์ด้วย จากเดิมสอบออนไลน์ที่บ้าน แต่มีข้อกังวลว่าอาจจะมีข้อสอบรั่ว หรือ การทุจริตหรือไม่ หากใช้ศูนย์วิทยพัฒนาเป็นสนามสอบได้ ก็จะไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องสอบวัดผลเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น เพราะศูนย์วิทยพัฒนาเป็นทรัพย์สินของมสธ.อย่างไรก็ตาม Online University คงไม่ไกลความจริง หาก มสธ.ก้าวเดินไปได้อย่างที่วาดหวังไว้

159918313098