ระดมสมอง 'บิ๊กธุรกิจ' นิมิตหมายดีแก้เศรษฐกิจ
ช่วงที่ผ่านมาไทยเผชิญมรสุมทั้งโควิด-19 วิกฤติเศรษฐกิจ และล่าสุดขุนคลังฃ ปรีดี ดาวฉาย ละจากเก้าอี้หลังนั่งได้เพียง 20 วัน นาทีนี้นายกฯต้องออกโรงแก้ปัญหาเศรษฐกิจเอง เชิญบิ๊กธุรกิจมาเสนอความเห็นเพื่อแก้ปัญหา นับเป็นนิมิตหมายที่ดีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย
เวลานี้ต้องบอกว่า “การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” ถือเป็นงาน “เร่งด่วน” ของรัฐบาล แม้ว่าจะเผชิญมรสุมหลายลูกจนอาจกลายเป็น “อุปสรรค” ในการนำรัฐนาวาหลังสถานการณ์โควิดก็ตาม โดยมรสุมลูกล่าสุด คือการพบผู้ติดเชื้อโควิดในไทย ในวันที่ 101 หลังไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ทำเอาประชาชนทุกภาคส่วน ต้องตั้งการ์ดสูง กังวลต่อการระบาดโควิดระลอกสอง เหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
ขณะที่มรสุมลูกก่อนหน้า เกิดขึ้นกับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นกลุ่มบุคคลสำคัญในการนำเสนอแนวทาง ผลักดันมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ หลังมะรุมมะตุ้ม เล่นเก้าอี้ดนตรี กว่าจะเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งสำคัญใน ครม.เศรษฐกิจได้ก็หืดขึ้นคอ ทว่าไม่ทันไร “ปรีดี ดาวฉาย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ดำรงตำแหน่งได้ 20 วันเศษ ก็ไขก๊อกลุกจากเก้าอี้ สะท้อนถึงเบื้องหลังการทำหน้าที่ ที่อาจจะอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย นอกเหนือจากเหตุผลด้านสุขภาพ
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการลุกออกจากเก้าอี้ รมว.คลังกลางครันเช่นนี้ ทำให้ผู้คนวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา แน่นอนส่วนใหญ่น่าจะวิเคราะห์ไปในทางร้าย ต่อ “เอกภาพ” ของรัฐบาล และ “ความเชื่อมั่น” ต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐ ยังคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา ถึงบุคคลที่จะมานั่งเก้าอี้ขุนคลัง เผือกร้อนจึงมาตกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการสรรหาบุคคลที่เหมาะสม สร้างความสมดุลระหว่าง ขั้วการเมือง กับมืออาชีพ ซึ่งหายากมากสำหรับบุคคลที่มีคุณสมบัติเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ารัฐบาลจะอับจนคนมากความสามารถมาช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นบรรดาบิ๊กธุรกิจหน้าคุ้นในหลากหลายเซ็กเตอร์ ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก-ศูนย์การค้า และธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ตบเท้าเข้าทำเนียบรัฐบาล ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเซ็กเตอร์ที่สังกัด ถือเป็นการวางหมากที่ดีของรัฐ และเป็น “นิมิตหมายที่ดี” ในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เพราะพวกเขาเหล่านี้ ถือเป็น “ภาคธุรกิจที่แท้จริง” (เรียลเซ็กเตอร์) ที่ได้รับผลกระทบจริง “เล่นจริง -เจ็บจริง” จากโควิด จึงน่าจะให้มุมมองในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยต่อรัฐ ได้ตรงจุด
เราหวังว่า ข้อเสนอของบิ๊กธุรกิจ ที่แต่ละเซ็กเตอร์นำเสนอชนิด “ยาวเป็นหางว่าว” จะได้รับการสกัดกรอง นำไปสู่การกำหนดเป็น “มาตรการ” ฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดอย่างไม่ชักช้า คู่ขนานไปกับการเร่งสรรหาตัวบุคคลเข้ามานั่งเก้าอี้ รมว.คลัง ขณะเดียวกันยังต้องหยุดการระบาดของโควิดระลอกสองไว้ให้ได้ ไม่งั้นกระสุนทุน ทั้งรัฐและภาคธุรกิจที่ร่อยหรอลงเรื่อยๆ คงยากจะบรรเทาผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลงานเยอะแบบนี้ มีสิบมือยังไม่รู้จะทำไหวไหม การระดม “ภาคธุรกิจ” มาช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ในนามของศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือ ศบศ. ถูกต้องแล้ว