'ชินวรณ์' ชี้ ส.ส.ปชป. ลงชื่อร่วม 'ก้าวไกล' แก้ รธน.เป็นสิทธิส่วนบุคคล
"ชินวรณ์" ชี้ ส.ส.ปชป.ลงชื่อเสนอร่างแก้ รธน. ร่วมพรรคก้าวไกลเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ต้องรับผิดชอบ ตอบสังคมให้ได้ ยืนยันมติพรรคแก้ไข ม. 256-ตั้ง ส.ส.ร.
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 63 นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ส.ส.บางส่วนของพรรคเข้าชื่อร่วมยื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญกับพรรคก้าวไกล ว่า เป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะลงชื่อเสนอกฎหมายได้ แต่พรรคมีมติยืนยันว่ายื่นเสนอร่างเพียงอย่างเดียวเพื่อความเป็นเอกภาพ และต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้จริง ที่สำคัญคือเป้าหมายต้องชัดเจน นอกจากแก้ไขมาตรา 256 แล้ว ยังต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งสามารถนำเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องจัดระบบการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจ รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนเรื่องนี้แล้ว
นายชินวรณ์ กล่าวว่า เราไม่ได้เห็นชอบที่จะให้ ส.ว. มาเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อพรรคเห็นชอบให้ตั้ง ส.ส.ร. ประเด็นเหล่านี้จะไปเสนอ ส.ส.ร.พิจารณาต่อไป เพราะแม้จะปิดสวิตซ์ ส.ว.ก็ไม่มีผลโดยตรงที่จะทำให้ ส.ว.ไปเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันข้างหน้า แต่ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งตนเข้าใจว่ากว่ารัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จก็เหมือนการปิดคัตเอ้าท์ ครั้งสุดท้ายที่ทุกฝ่ายจะเห็นร่วมกัน และ ส.ว.ไม่มีความจำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรี คิดว่านายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะตระหนักเรื่องนี้ว่าต้องมาจากการเลือกจากประชาชนเช่นเดิม
“ส.ส.บางคนที่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคอื่นเป็นสิทธิส่วนบุคค ที่ต้องชี้แจงเหตุผล ตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ อย่างไรก็ตาม จะไม่กดดันให้ทั้ง16 คนที่ไปร่วมลงชื่อถอนชื่อ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีวุฒิภาวะ ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาตัดสินใจที่จะพิจารณาจุดยืนทางการเมือง เพราะเรื่องนี้จะเป็นคำตอบต่อไปในอนาคตด้วยว่าทำไมต้องลงชื่อเรื่องดังกล่าวในช่วงนี้ มีเหตุผลอะไร เป็นพียงกระแสหรือไม่ และหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ซึ่งคำตอบเหล่านี้แต่ละคนจะต้องรับผิดชอบตนเองเพราะทุกคนถือเป็นผู้แทนประชาชน” นายชินวรณ์ กล่าว
เมื่อถามว่าต่อไปหากพรรคมีมติในเรื่องต่างๆ แล้วมี ส.ส.บางส่วนยึดเอกสิทธิ์ของตนเองจะมีความหมายอะไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า มติในเชิงนโยบาย พรรคมีความชัดเจนและต้องดำเนินการ ถึงจะมีมาตรการที่ต้องรับผิดชอบต่อไป ซึ่งมีความรับผิดชอบในส่วนมติที่เห็นชอบร่วมกับพรรค และบางคนยืนยันชัดว่าหากแก้มาตรา 265 และตั้ง ส.ส.ร. ได้ก็พอใจแล้วซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นมติพรรคที่ผู้บริหารจะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ส่วนตัวนักการเมืองคนนั้นต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง