ข่าว 'ลุงพล' ถึงเส้นแบ่งของ 'จริยธรรมสื่อ' กับ เรตติ้ง ควรอยู่ตรงไหน

ข่าว 'ลุงพล' ถึงเส้นแบ่งของ 'จริยธรรมสื่อ' กับ เรตติ้ง ควรอยู่ตรงไหน

การลาออกของช่างภาพสถานีดังจากข่าว "ลุงพล" กับคำถามที่ว่า ถึงเวลาทบทวนนโยบายข่าวเรียกเรตติ้งของช่อง กับ "จริยธรรมสื่อ" แล้วหรือยัง ในวันที่ สื่อมวลชนมักถึงตั้งคำถามจากสังคมเรื่องการทำหน้าที่

"ขอโทษกับความเน่าเฟะกรณีลุงพล ป้าแต๋น และบ้านกกกอก จากน้ำมือของ “สื่อมวลชนอย่างพวกเรา” ที่หยิบยื่นให้กับสังคม ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา..." คำขอโทษที่ปรากฏบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ทรงพล เรืองสมุทร

อดีตหัวหน้าช่างภาพของสถานีทีวีช่องหนึ่งได้กลายเป็นกระแสสะเทือนสังคมอีกครั้ง 

ทั้งประเด็น "ใครคือฆาตกร" ที่ถูกเบี่ยงเบนไป หรือ "เส้นแบ่งของจริยธรรมของสื่อในการนำเสนอข่าวกับเรตติ้ง" ควรอยู่ตรงไหน

ยังไม่นับเรื่องของการ "ละเมิดสิทธิเด็ก" ที่ถูกซุกเอาไว้ใต้พรมอีกเรื่อง

"สิ่งที่อยากพูดผมเขียนเอาไว้หมดแล้วบนฟีด" เขายืนยันถึงความรู้สึกที่อยากจะสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ติดต่อขอสัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ล่าสุด มีนักข่าวจากช่องเดียวกันก็ได้โพสต์ข้อความในทำนองเดียวกันด้วย

159964230561

159964748896

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ ข่าวการเสียชีวิตของ เด็กหญิงวัย 3 ปีจาก บ้านกกกอก ถูกนำเสนอผ่านสื่อเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา "น้องชมพู่" รวมทั้ง ลุงพล ก็กลายเป็นความสนใจของสังคมมาตลอดระยะเวลากว่า 4 เดือน ส่วนหนึ่งเกิดจากการปักหลักนำเสนอข่าว และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดี รวมทั้งกรณีความขัดแย้งจนนำไปสู่การแบ่งเป็น ทีมพ่อแม่น้องชมพู่ กับทีม ลุงพล อย่างที่ปรากฏในข่าวทุกวันนี้

"ทำงานยากมาก" อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์ หัวหน้าข่าวจาก เนชั่นทีวี ให้ความเห็นจากที่เคยได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่รายงานความคืบหน้าของคดีเมื่อช่วงครบรอบ 60 วัน ซึ่งในตอนนั้นมีข่าวว่าจะออกหมายจับผู้กระทำผิด ทำให้สถานีข่าวโทรทัศน์หลายช่องต่างพากันส่งทีมข่าวภาคสนามของตัวเองลงพื้นที่

เขาเล่าว่า ต้องยอมรับว่ามี 2 ช่องหลักที่เป็นเหมือนเจ้าภาพรายงานข่าวดังกล่าวไปแล้ว โดยมีการแบ่งทีมอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวของน้องชมพู่ หรือฝั่งของลุงพล ซึ่งแต่ละวันก็จะมีการปั้นประเด็นเพื่อเลี้ยงกระแสผ่านกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ นอกเหนือไปจากความคืบหน้าของคดี ถือเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้บรรดาตัวละครแห่งบ้านกกกอกถูกสปอตไลต์ความสนใจของสังคมจับตามากขึ้น

159964232931

ลุงพล ขณะทำกิจกรรม // ภาพ : อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีของลุงพล ที่กลายเป็นคนดัง และอยู่ในความสนใจของผู้คน ถึงขนาดมีคิวงาน และรายได้ออกมาแล้ว

เรานำเสนอเรื่องราวที่ห่างไกลจากสิ่งที่ควรจะเป็นจนกู่ไม่กลับ หาประโยชน์และปล่อยให้กลุ่มคนที่ต้องการผลประโยชน์จากเรื่องนี้เข้ามารุมทึ้ง “เราอยากได้กระแส และต้องการเพียงแค่ยอดคนดู ยอดกดไลก์ ยอดแชร์” บางข้อความของ อดีตหัวหน้าช่างภาพคนเดิมอธิบายเอาไว้แบบนั้น

ถ้าอย่างนั้นแล้ว วันนี้ เส้นแบ่งของ เรตติ้ง และจรรยาบรรณสื่อ อยู่ตรงไหนกันแน่

"พูดยากนะ" ปิติพร เพรามธุรส หัวหน้าผู้สื่อข่าว PPTV เอ่ยขึ้นเมื่อถูกถามถึงเส้นแบ่ง ก่อนที่เธอจะชวนคิดตามว่า หากทิศทางประเด็นไม่ได้มาจากนักข่าวที่ลงสนามเอง แต่มาจากทางกองบรรณาธิการ แล้วเรตติ้งเป็นตัวกำหนดทิศทางประเด็นอีกที มันจึงกลายเป็นเงื่อนไขของการหาเลี้ยงชีพที่ครอบจรรยาบรรณเอาไว้ หากตัวนักข่าวรู้สึกว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว ทางเลือกที่ทำได้ก็คือ การลาออกจากหน้าที่การงานตรงนั้น

"เคยมีน้องนักข่าวคนหนึ่งถูกมอบหมายให้ไปตามประเด็นเรื่อง พระละเมิดเด็ก น้องก็ตามรายงานไปตามทิศทางคดีที่ดำเนินไป แต่ต่อมาตัวพระรูปนั้นฆ่าตัวตาย น้องเขาก็รู้สึกว่ามันเป็นผลมาจากการทำหน้าที่ของเขาที่ทำให้คนๆ หนึ่งต้องจบชีวิตลง สุดท้ายน้องคนนั้นก็ลาออกไป ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้เกี่ยวกับการรายงานข่าวเลย"

ที่สุดแล้ว เธอมองว่า ถึงสารตั้งต้นของการรายงานมักมาจาก กองบรรณาธิการ หรือทางช่องเป็นตัวกำหนดประเด็น แต่ปัจจุบันเมื่อ เรตติ้ง คือสิ่งที่กำหนดทุกอย่าง กรณีของบ้านกกกอกจึงเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรที่กำกับดูแลอย่าง กสทช. หรือองค์กรสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ ควรมีบทบาทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้มากกว่านี้ เพื่อนำไปสู่มาตรฐานที่ดีในการนำเสนอข่าว "คนเลือกแบบนี้" ไม่ควรเป็นข้ออ้าง เมื่อหน้าที่ของสื่อมวลชนคือการให้ความรู้ และข้อเท็จจริง

"เรื่องพวกนี้ เป็นสิ่งที่ควรทำกันตั้งนานแล้ว เราลืมกันไปแล้วเหรอว่า สื่อมวลชนเราทำเพื่อความอยู่รอด หรือเพื่อสังคม" 

159964240817

พ่อแม่น้องชมพู่ อีกหนึ่งความสนใจของสื่อ และสังคม // ภาพ : อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์

อีกข้อสังเกตที่ พรทิพย์ โม่งใหญ่ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว workpoint มองถึงเรื่องลุงพล คือ เรตติ้ง นั้นล้ำเส้นจนไป ละเมิดครอบครัวผู้ตาย และละเมิดสิทธิเด็กอย่างชัดเจน

"ถึงวันนี้ เราก็ยังไม่รู้ว่า ตกลงเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศไหม หรือ ใครคือฆาตกร เพราะจนถึงวันนี้ ประเด็นรองถูกหยิบขึ้นมานำเสนอมากกว่าประเด็นหลักจากการสร้างวาทกรรมเพื่อดึงเรตติ้งจากคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย คนดูชอบดูวิวาทะ และไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับสังคมเลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องย้อนถามว่าทาง กองบรรณาธิการเองได้รับรู้ถึงผลกระทบต่อเนื่องที่จะตามมาไหม"

ในขณะเดียวกัน เรื่องนี้ยังทำให้แหล่งข่าว และคนในพื้นที่เริ่มแบ่งพวกสื่อแล้ว ยิ่งทำให้การทำงานยากขึ้นไปอีก อีกทั้งการเข้าไปรายงานในพื้นที่เก็บพยานหลักฐาน ซึ่งในการรายงานข่าวอาชญากรรมจะถูกสอนกันมาอยู่แล้วว่าไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่

"วันนี้ คนดูข่าวอยากดูข่าวแบบละครมากขึ้น ส่งผลให้คนรายงานข่าวเองก็หันมาเล่าตัวละครของข่าวมากกว่าข้อเท็จจริง แน่นอนว่า มันเป็นผลมาจากการแข่งขันที่ทุกคนอยากได้เอ็กคลูซีฟ แต่ไม่ใช่ในความหมายของประเด็นที่แตกต่างหรือลึก กลายเป็นว่า ยิ่งเยอะยิ่งถือว่าเอ็กคลูซีฟแทน มันจึงนำไปสู่การละเมิดในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น กระทั่งแอบอัดเสียงก็ทำ"

ด้าน ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สรุปปมปัญหาระหว่างจริยธรรมสือ และเรตติ้งนั้นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก โดยเฉพาะในวันที่ ยอดคนดูถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของอุตสาหกรรมอยู่

"สถานการณ์ธุรกิจสื่อในประเทศไทยมันก็ถูกบีบบังคับด้วยตัวชี้วัดที่ใช้เรตติ้ง คือจำนวนผู้ชมเยอะไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือออนไลน์ ทีนี้การเยอะไว้ก่อนเนี่ย เมื่อสื่อนำเสนอประเด็นใดไปแล้วเห็นผลกระทบเชิงตัวเลข มันก็ทำให้รู้สึกว่า อาจจะต้องนำเสนอเรื่องนั้นต่อ คนที่ทำคอนเทนต์ก็จะคิดว่านี่คือสิ่งที่คนส่วนมากสนใจ เขาก็จะทำ แล้วก็เดินหน้าทำประเด็นนั้นๆ"

จุดสมดุลของเรื่องนี้สำหรับเขาคิดว่า ควรอยู่ที่ปริมาณในการนำเสนอ เช่น ในรายการทีวี 2 ชั่วโมงจะให้น้ำหนักกับประเด็นนี้ในเชิงข่าวที่ตอบโจทย์จริยธรรมกี่เปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด อย่างกรณีดังกล่าวความคืบหน้าของคดีไปถึงไหนแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับไปอยู่ที่ คนกินข้าว ความดังของคนในข่าว ไม่ต่างจากกรณีของครูปรีชาก่อนหน้านี้

"ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนี้คือว่า สุดท้ายตัววัดมันกลายเป็นเรตติ้งคือ จำนวนไม่ใช่คุณภาพ ประเทศนี้ไม่เคยมีตัววัดคุณภาพ" นายกสมาคมฯ ทิ้งท้าย

159964252041

บ้านกกกอกที่มีนักข่าวแวะเวียนลงพื้นที่ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา  // ภาพ : อิทธิพัทธ์ ปิ่นระโรจน์