'อนุสรณ์' หนุนร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วม 'คนละครึ่ง' กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
"อนุสรณ์" ชี้มาตรการ "คนละครึ่ง" ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้จริง แต่ต้องไม่เปิดกว้างให้ค้าปลีกรายใหญ่เข้าร่วม ให้การใช้จ่ายเงินทำได้เฉพาะเป็นร้านค้าขนาดเล็กและขนาดย่อมเท่านั้น
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 63 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นการบริโภคโครงการ "คนละครึ่ง" ของรัฐบาล ว่า อาจช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากกระเตื้องขึ้นบ้างในไตรมาส 4 หากกำกับให้การใช้จ่ายเงินทำได้เฉพาะเป็นร้านค้าขนาดเล็กและขนาดย่อมเท่านั้น แต่ถ้ามาตรการเปิดกว้างให้ใช้ที่ไหนก็ได้ เม็ดเงินส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่เครือข่ายค้าปลีกของบริษัทขนาดใหญ่เหมือนโครงการชิมช้อปใช้ รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขเงินไม่ควรยุ่งยากเกินไปด้วยการให้ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิผ่านแอพพลิเคชัน "เป๋าตัง" หรือรับเงินสด
กลุ่มแรกที่รับเงินผ่านแอพพลิเคชัน "เป๋าตัง" ต้องจ่ายเงินอีกครึ่งหนึ่งในการใช้จ่ายและกำหนดเพดานในการจ่ายรายวัน ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ โดยคนกลุ่มที่จ่ายเงินผ่านแอพพลิเคชัน "เป๋าตัง" ได้รับแจกเงินมากกว่า อาจเพิ่มให้เป็นคนละ 5,000 บาท กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มคนที่ต้องการรับเงินสดโอนเงินเข้าบัญชีโดยตรงเลยมอบให้ท่านละ 2,500 บาท กลุ่มที่รับเงินสดก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกจากรัฐบาลจัดสรรให้ และไม่กำหนดเพดานการใช้ต่อวัน ตอนนี้รัฐบาลต้องให้ร้านค้ารายย่อยไปขึ้นทะเบียน "ถุงเงิน" ของธนาคารกรุงไทยมากที่สุด
หากไม่เร่งดำเนินการตามที่กล่าวมา อัตราการขยายตัวภาคบริโภคอาจกระเตื้องขึ้นโดยภาพรวม แต่ผู้มีรายได้น้อยไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนักโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยรายเล็ก การใช้เงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท อาจไม่บรรลุเป้าหมายการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และเงินจากมาตรการนี้ควรมอบให้กับผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี หรือเป็นผู้ว่างงานและไม่มีเงินออมหรือทรัพย์สินทางการเงินใดๆ หรือผู้อยู่ในฐานข้อมูลลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะมีจำนวนไม่ถึง 15 ล้านคน
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ด้วยเม็ดเงินงบประมาณ 45,000 ล้านบาท หากประชาชนใช้สิทธิเต็มที่ผ่าน "กระเป๋าตัง" โดยไม่ขอรับเป็นเงินสด จะทำให้เม็ดเงินเพิ่มไปที่ 90,000 ล้านบาท หมุนอย่างน้อย 2-3 รอบจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 180,000-270,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เพิ่มขึ้นได้อีกอย่างน้อย 0.3%
"การที่เงินจะหมุนหลายรอบได้ ต้องมุ่งเป้าไปที่คนรายได้น้อยที่มีอัตราความโน้มเอียงในการบริโภคสูง เงินต้องใช้จ่ายไปกับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอันนำมาสู่การลงทุน การจ้างงานเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ" นายอนุสรณ์ กล่าว