สบพ.เร่งปั้นบุคลากร ชี้อุตการบินพร้อมเดินหน้า

สบพ.เร่งปั้นบุคลากร ชี้อุตการบินพร้อมเดินหน้า

สถาบันการบินพลเรือน จัดเสวนาออนไลน์ “เตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมการบินสู่ยุค New Normal” ชี้อุตสาหกรรมการบินยังพร้อมเดินหน้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คาดฟื้นปกติภายใน 3-5 ปี พลิกวิกฤตปั้นบุคลากรรองรับ

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะเป็นหน่วยงานผลิตและพัฒนาบุคลากรการบิน ร่วมกับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา “เตรียมพร้อมอุตสาหกรรมการบินสู่ยุค New Normal” ขึ้น ในรูปแบบการเสวนาออนไลน์ Live สด ผ่านทาง Facebook : สถาบันการบินพลเรือน-Civil Aviation Training Center, Thailand  เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ก.ย. 2563 เวลา 09.50 – 11.30น. เป็นการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินของไทย และเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้บุคลากรการบินและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ตลอดจนเพื่อแสดงให้เห็นถึงโอกาสของอุตสาหกรรมการบินของไทยภายหลังวิกฤติโควิด-19

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินเติบโตมาโดยตลอด แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจการบินต้องหยุดชะงัก ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการของทางภาครัฐ และการพัฒนาวัคซีน หากสามารถพัฒนาได้เร็วโอกาสการกลับมาฟื้นตัวก็ทำได้เร็วเช่นกัน

“ผมเชื่อว่าบุคลากรการบินในอนาคต ตัวอย่างเช่น นักบิน และอาชีพอื่นๆ จะไม่ได้ต้องการคนที่มีความรู้พื้นฐานด้านการบินในเฉพาะสาขาอาชีพเท่านั้น แต่ต้องมีพื้นฐานหลายๆอย่างที่เราเรียกว่า Multi skill และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า การเรียนการสอนของสถาบันการบินพลเรือน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์อนาคต มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน”

อย่างไรก็ดี กพท.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลก็พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ และหามาตรการเยียวยาให้ทุกหน่วยสามารถกลับมาดำเนินงานต่อได้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าในที่สุดแล้วคนไทยจะแข็งแกร่งขึ้นจากบทเรียนของโควิดในครั้งนี้ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และการเตรียมมาตรการต่างๆให้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของไทยให้ฟื้นกลับมาได้อย่างยั่งยืนต่อไป

160014818242

นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวที่เป็นกระแสหลักของเรา คือนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 65% หายไป และตอนนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าเราจะเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตอนนี้ คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ และช่วยเหลือผู้ประกอบการกว่า 4.4 ล้านคน ให้ยังคงดำรงอยู่

นอกจากนี้ ต้องมีโครงการต่างๆ ออกมากระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ภายใต้ความเชื่อมั่น และให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยไม่น้อยไปกว่าด้านเศรษฐกิจ สื่อสารและทำให้คนไทยเราเกิดความรู้สึกร่วมที่อยากจะเดินทางอย่างปลอดภัย สร้างความภูมิใจว่าเมื่อเกิดวิกฤต คนไทยเราช่วยเหลือกัน ออกมาเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้คนต่างชาติเห็นและเชื่อมั่นประเทศ จนทำให้ประเทศไทยจะยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่ใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่อไป

พญ.วราลักษณ์ ตังคณะกุล รองผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการรับมือและควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี มีกลยุทธ์ในการป้องกันและสร้างความปลอดภัยเพื่อลดผลกระทบจากโรคโควิดอยู่ 6 กลยุทธ์สำคัญ เรียกว่า 6C Strategy เช่น การเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจหา การสื่อสาร มาตรการทางกฎหมายและการมีส่วนร่วมต่างๆ การร่วมกับกระทรวงต่างประเทศในการควบคุมคนเข้าประเทศ ร่วมถึงทางธุรกิจการบินเองที่มีมาตรการป้องกันคนก่อนเข้าประเทศอย่างเข้มงวด

อีกทั้ง หน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความร่วมมืออย่างดี ทำให้ประเทศสามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เป็นโอกาสดีที่เราจะนำจุดแข็งด้านนี้มาพัฒนาต่อ โดยการตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์ด้านสุขภาพ ที่จะเปิดต้อนรับคนต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต และด้วยความสำเร็จดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจการบินกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

ด้านกัปตันเดชิศร์ เจริญวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากประสบการณ์ของสายการบินที่ผ่านมา เราเคยพบเรื่องโรคระบาดมาหลายครั้ง แต่สำหรับครั้งนี้ ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุด คือหยุดการบินไป 100% ต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะมีข้อจำกัด ทั้งด้านกฎระเบียบด้านการบิน เศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข

และเมื่อไหร่ที่เครื่องบินหยุดบิน มีพนักงาน ทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องยอมรับว่าอาจมีการลดจำนวนลงบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมการบิน ก็ยังต้องการคนอยู่ เพราะเมื่อถึงเวลาต้องใช้แล้ว เราต้องพร้อมบินเสมอ โดยเฉพาะบุคลากรการบินที่มีความสำคัญอย่างมาก ฉะนั้นแล้วเมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค สิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของพนักงานของเรา

ทั้งนี้ เรามีการทำตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การให้พนักงาน work from home การเรียนออนไลน์ เป็นต้น ฉะนั้นสำหรับน้องๆ หรือท่านที่สนใจที่จะเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมการบินยังสามารถเข้ามาได้ สำหรับอาชีพที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินยังถือเป็นอาชีพที่ยังมีความต้องการ จึงยังเป็นโอกาสสำหรับคนที่อยากเรียน เช่น นักบิน หากรักที่จะทำการบินแล้วก็ต้องไม่หยุดที่จะเดินตามความฝันต่อไปให้ได้