สภา พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 64 วาระ 2 ใช้เวลา 15 ชั่วโมง เห็นชอบงบกลาโหม-งบกระทรวงการคลัง
สภา พิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณ64 วาระ 2 วันแรก ใช้เวลา 15 ชั่วโมง แล้วเสร็จ 9 จาก 40 มาตรา เห็นชอบงบกลาโหม-งบกระทรวงการคลัง หลัง ส.ส.ฝ่ายค้านขอตัดงบและแปรญัตติกว้างขวาง
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาฯ ลงมติเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณมาตรา 9 ซึ่งเป็นงบประมาณของกระทรวงการคลังและหน่วยงานในกำกับวงเงิน 11,904 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 237 ต่อ 47 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน และประธานในที่ประชุมสั่งพักการประชุมในเวลา 01.03 น. และนัดประชุมต่อในเวลา 09.30 น. ตามที่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาลเสนอ
โดยก่อนหน้านั้นกรรมาธิการที่ของสงวนความเห็น นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล, นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอขอให้ยุบสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ให้เหตุผลว่าล้มเหลวในการบริหารรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องรับผิดชอบ ชี้ว่ารายได้ของรัฐวิสาหกิจมากถึง 3.5 ล้านล้านบาทซึ่งมากกว่างบประมาณรายจ่ายแต่ขาดการบริการจัดการ โดยเฉพาะใช้วิธีแก้ไขสัญญาหรือยกเลิกสัญญาแต่ไม่มีการเปิดประมูล ยกตัวอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ทำการซื้อขายระยะยาวกับ ปตท. มูลค่าแสนล้านบาทโดยไม่มีการเปิดประมูลให้เกิดการแข่งขัน และยังยกตัวอย่างการบริหารท่ากาศยานไทย หรือ AOT ที่แก้ไขสัญญามูลค่า 2.3 แสนล้านบาทให้บริษัทเอกชนดิวตี้ฟรี ที่คาดการว่าจะกระทบต่อรายได้เกือบแสนล้านบาทแต่ไม่เปิดประมูลใหม่
นางสาวศิริกัญญา อภิปรายชี้ว่า งบฯ ที่สภาพิจารณาน้อยกว่าเงินนอกงบประมาณในบางหน่วยงาน เช่น กรมธนารักษ์ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร โดยตั้งข้อสังเกตถึงเงินค่าใช้จ่ายเก็บภาษีท้องถิ่น หรือเงินที่กรมจัดเก็บรายได้ตามกฎหมายว่าด้วยรายได้เทศบาล และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถหักไว้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งบางรายมีข้อสงสัย ที่สภาฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น งบ 28 ล้านบาทในการปรับปรุงเว็ตไซต์ของกรมสรรพากร พร้อมตั้งคำถามถึงจำนวนยอดรวมการจัดเก็บภาษีถูกหักไว้ร้อยละ 5 หรือไม่ และเสนอให้ยกเลิกจัดเก็บค่าใช้จ่ายภาษีท้องถิ่น
ด้าน นายสันติ กีระนันท์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่าข้อสังเกตกระทรวงการคลังจะนำไปพิจารณา และในฐานะกรรมาธิการชี้แจงเรื่องเงินนอกงบประมาณว่ามีงบหลายหน่วยงานที่ได้จัดเก็บ ส่งผลในการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ลดลง ยอมรับเงินนอกงบประมาณไม่อาจตรวจสอบในสภาณได้ และสำนักงบประมาณก็ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบ แต่ยืนยันสภาฯสามารถตรวจสอบได้ด้วยกลไกอื่น หรือ การตรวจสอบบันทึกรายงานทางการเงินของหน่วยงานนั้นๆ