'พาณิชย์'ถกแก้ปัญหาเนื้อหมูแพง
สมาคมเลี้ยงหมูยอมถอย-ตรึงราคาหน้าฟาร์มต่อแลกส่งออกตีตลาดเพื่อนบ้านช่วง ASF ระบาด ชี้ เนื้อหมูไทยเป็นที่ต้องการของตลาดเพราะไร้โรคASF
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวถึงกรณีที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติขอให้รัฐปลดล็อคราคาสุกรหน้าฟาร์มให้เป็นไปตามกลไกตลาดเพื่อลดความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงสุกร ว่า จากข้อเสนอดังกล่าว กรมได้เสนอแลกเปลี่ยนต่อสมาคมไปว่าหากต้องการให้ยกเลิกราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มและปล่อยให้เป็นไปตามราคาตามกลไกตลาด กรมก็จะจำกัดการส่งออกหมูไปต่างประเทศ ซึ่งพอเสนอไปสมาคมก็ยอมที่จะให้กรมกำหนดราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มที่ 80 บาทเช่นเดิมจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง และอยากย้ำว่าขณะนี้หมูไทยเป็นที่ต้องการของทุกประเทศเพื่อนบ้านเพราะปลอด โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่กำลังระบาดในฟาร์มของประเทศเพื่อนบ้านจนทำให้สุกรตายผลผลิตไม่เพียงพอ ซึ่งกรมจะไม่เข้าไปแตะต้องการส่งออกสุกรเพราะเข้าใจดีว่าเป็นโอกาสทองของผู้ส่งออกไทยที่จะทำตลาดในช่วงนี้
ทั้งนี้ยืนยันว่า ข้อตกลงที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีเจตนาที่จะดูแลทั้งผู้เลี้ยงสุกรและประชาชน ซึ่งขณะนี้ สถานการณ์ก็ได้ปรับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เกิดประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภค
นายวิชัย กล่าวอีกว่า การที่ราคาสุกรมีชีวิตในประเทศปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเม.ย. 2563 จากกิโลกรัมละ 67 – 68 บาท เป็นกก.ละ 81 - 82 บาท ในช่วงกลางเดือนก.ค. 2563 ซึ่งส่งผลให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรปรับสูงขึ้นสูงกว่ากก.ละ 170 บาท กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคที่ยังอยู่ในช่วงเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้กรมต้องบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค และได้หารือกับทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมสุกร คือ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้ประกอบการโรงเชือดชำแหละ สมาคมตลาดสดไทย และ ห้างค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ ประชุมหลายครั้ง เพื่อหารือแนวทางบริหารจัดการอุปทานและราคาสุกรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งไม่สร้างผลกระทบต่อโอกาสของสินค้าสุกรไทย ที่จะสามารถส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้ ซึ่งทุกภาคส่วนข้างต้น ก็เห็นพ้องร่วมกันในการกำหนดมาตรการสำหรับสินค้าสุกร
โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรในทุกภูมิภาค ช่วยดูแลด้านปริมาณและราคาสุกร มีชีวิตหน้าฟาร์ม มิให้กระทบผู้บริโภคในประเทศ โดยตรึงราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่จำหน่าย ในประเทศไม่เกินกก.ละ 80 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตกก.ละ 71.55 บาท เพื่อให้ราคาขายปลีกเนื้อสุกรอยู่ที่ไม่เกินกก.ละ 160 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ และไม่กระทบต่อผู้บริโภคมาก ด้านโรงเชือดชำแหละ ช่วยตรึงราคาขายส่งไว้เช่นกัน เพื่อให้ผู้ค้าปลายทาง ในตลาดสด และห้างสามารถขายปลีกเนื้อสุกร (สะโพกและไหล่) ที่กิโลกรัมละ 150 บาท และสันนอก กิโลกรัมละ 160 บาท
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมตลาดสดไทย ห้างค้าปลีกรายใหญ่ ได้จัดให้มีการขายเนื้อสุกรคุณภาพดี ในราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 130 บาท เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ในส่วนของสินค้าอุปโภคบริโภคสถานการณ์ราคาทั่วไปก็ไม่มีการปรับขึ้นราคา และไม่มีต้นทุนสินค้าชนิดปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
ทั้งนี้จากสถานการณ์โรค ASF ส่งผลให้สุกรในจีนหายจากตลาดกว่า300 ล้านตัวต่อปี จากกำลังการผลิต 500 ล้านตัวต่อปี และเวียดนาม มีกำลังการผลิตลดลงกว่า 50 % จากทั้งสิ้น 100 ล้านตัวต่อปี ทำให้ผลผลิตสุกรโดยรวมไม่เพียงพอกับความต้องการราคาสุกรในภูมิภาคนี้จึงสูงขึ้นมีเพียงสุกรของไทยเท่านั้นที่ยังสามารถควบคุมการระบาดของ ASF ได้ และเป็นสุกรที่มีมาตรฐานดีที่สุด เป็นที่ต้องการของตลาดเวียดนาม ราคาในส่งออกที่สูงขึ้นทำให้ ปริมาณการส่งออกในปีนี้มีประมาณ 1.4 ล้านตัวเพิ่มขึ้น 260 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อีกทั้งราคาเนื้อสุกรในภาคการส่งออกจะเพิ่มมากขึ้นจากวงจรสุกรที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ