บขส.เตรียมฟื้น 'สายใต้เก่า' ปั้น 'มิกซ์ยูส' รับเทรนด์ธุรกิจ
บขส.เตรียมเปิดพีพีพีพัฒนาสถานีขนส่งสายใต้เก่า 15 ไร่ ปั้นโครงการมิกซ์ยูสรับเทรนด์ผู้โดยสาร คาดมูลค่าสูงกว่า 4.6 พันล้าน เผยแผนย้ายฮับบริการกลับปิ่นเกล้า
รายงานข่าวจาก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ บขส.มีแผนที่จะย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) หรือ สายใต้ใหม่ กลับมาอยู่บริเวณเดิม คือสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) หรือสายใต้เก่า เนื่องจากสัมปทานจัดตั้งสถานีสายใต้ใหม่ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดให้ บขส.ใช้เดินรถโดยจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ กำลังจะหมดอายุสัญญาลงในปี 2568
อย่างไรก็ดี จากแผนย้ายสถานีดังกล่าว บขส.ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งสายใต้เก่า โดยล่าสุดจุฬาฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์กลับมายัง บขส.แล้ว นำเสนอแนวทางในการพัฒนา ใช้ชื่อโครงการว่า “Green Net ปิ่นเกล้า” ซึ่งมีแนวคิดพัฒนาเป็นสถานีขนส่งผู้โดยที่ทันสมัย ในลักษณะโครงการผสมผสาน หรือมิกซ์ยูส และศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพสีเขียวเพื่อชีวิตคนเมือง บนขนาดพื้นที่รวม 15 ไร่
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเสนอให้ บขส. นำพื้นที่ดังกล่าวเปิดประมูลพื้นให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี โดย บขส.จะเป็นผู้ลงทุนที่ดิน และให้เอกชนลงทุนก่อสร้างพร้อมพัฒนาโครงการ เบื้องต้นประเมินมูลค่าโครงการรวม 4,659 ล้านบาท รวมระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี ซึ่ง บขส.จะได้รับผลตอบแทนจากโครงการรวมทั้งสิ้น 1,938 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 50 ปี แบ่งออกเป็น รายได้ค่าธรรมเนียมปีแรก จำนวน 177 ล้านบาท ค่าเช่า 50 ปี จำนวน 1,159 ล้านบาท ค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการสร้างสถานีจำนวน 281 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจำนวน 320 ล้านบาท
สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหรือ 3 อาคาร คือ 1.อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารสายใต้อัจฉริยะ (Smart Station) ที่มีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้บริการเดินรถ ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 จะทำเป็นห้างสรรพสินค้าและร้านอาหาร
2.อาคารที่พักอาศัย (คอนโดมิเนียม) แบบให้เช่าระยะยาว จำนวน 35 ชั้น และ 3.อาคารศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้พักฟื้นสุขภาพจากโรงพยาบาลโดยรอบพื้นที่
รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า สัญญาสัมปทานสร้างสถานีสายใต้ใหม่จะหมดในปี 2568 จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ บขส. ต้องเร่งย้ายกลับมาให้บริการที่สถานีสายใต้เก่าตามเดิม ซึ่งเป็นพื้นที่ของ บขส.เอง ทำให้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นจะนำเสนอโครงการ Green Net ปิ่นเกล้า ให้อนุกรรมการพัฒนาทรัพย์สินพิจารณาอนุมัติภายในเดือน ก.ย.นี้ และตั้งเป้าที่จะต้องเปิดขายซองประมูลในปี 2564 เพื่อให้สามารถก่อสร้างสถานีและพัฒนามิกซ์ยูส ให้เสร็จและเปิดให้บริการได้ทันในปี 2568