พบทุจริต'บัตรทอง'เพิ่มอีก 106 แห่ง กระทบเพิ่มอีก 9 แสนคน

พบทุจริต'บัตรทอง'เพิ่มอีก 106 แห่ง กระทบเพิ่มอีก 9 แสนคน

สปสช.ตรวจสอบพบคลินิกในกทม.ทุจริตบัตรทอง จงใจสร้างหลักฐานเบิกเท็จ ล็อตที่3 เพิ่มอีก 106 แห่ง กระทบผู้ใช้สิทธิอีกราว 9 แสนคน รวม 3 ล็อตรวม 188 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 195 ล้านบาท กระทบคนราว 2 ล้าน แจ้งความเอาผิดอาญา-เรียกเงินคืน ขยายผลสอบย้อนหลังอีก10ปี


เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการแถลงข่าว “สปสช.แจงยกเลิกสัญญา 64 คลินิก-รพ.เอกชนด้วยเหตุทุจริต” นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเอบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า จากการตรวจสอบการเบิกจ่ายของหน่วยบริการที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ทั้งที่เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพมหานคร เบื้องต้นพบว่าได้มีการนำสิทธิประชาชนมาแอบอ้างเพิกค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง โดยประชาชนไม่ได้เข้าใช้บริการจริง ซึ่งเป็นการจงใจสร้างหลักฐานเท็จขึ้นเพื่อเบิกเงินจากสปสช.ถือว่าเป็นการทุจริต เป็นความผิดอาญา ได้แจ้งให้สปสช.แจ้งความร้องทุกข์กับกองปราบปรามฯในล็อตที่ 3 เพิ่มอีก 106 แห่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบพบการทุจริตและแจ้งความแล้ว 2 ล็อต โดยล็อตที่ 1 จำนวน 18 แห่ง และล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง รวมขณะนี้ 3 ล็อตตรวจสอบพบทุจริตแล้ว 188 แห่ง


นอกจากนี้ สปสช.จะดำเนินการเรียกค่าเสียหายคืนทั้งหมด หากไม่คืนก็จะมีการฟ้องเรียกค่าเสียหาย และสปสช.มีความจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการที่พบการทุจริตทั้ง 188 แห่ง เนื่องจากในสัญญาระหว่างสปสช.กับหน่วยบริการมีการเขียนข้อสัญญาไว้ชัดเจนว่า ถ้ามีการเบิกเท็จหรือไม่ถูกต้อง ทางสปสช.มีอำนาจต้องเบิกสัญญา เพราะฉะนั้นสปสช.ต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ หากไม่ดำเนินการก็จะเข้าข่ายละเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญา

160076105187
นายจิรวุสฐ์ กล่าวอีกว่า การตรวจสอบที่พบการทุจริตในขณะนี้เป็นการดำเนินการตรวจสอบโครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพียง 1 รายการ คือ รายการของกลุ่มโรคเมตาบอลิก จากที่มีทั้งหมด 18 รายการ และเป็นการตรวจสอบเฉพาะการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2562 ส่วนอีก 17 รายการนั้นจะมีการทยอยตรวจสอบหลังจากที่มีการตรวจสอบรายการที่ 1 นี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง จะเสนอบอร์ดสปสช.ในการขยายการตรวจสอบการเบิกจ่ายในโครงการนี้ย้อนหลังไปถึงปีงบประมาณที่เริ่มต้นโครงการด้วยราว 10 ปีซึ่งจะทำให้สามารถบอกได้ว่ามีการทจุริตเบิกจ่ายโครงการนี้ไปเท่าไหร่


“การดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายทั้งหมดไม่ได้กลั่นแกล้งใครหรือเลือกปฏิบัติ แต่เป็นการทำเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนและปกป้องประโยชน์ของรัฐ เพราะจากการตรวจสอบพบรูปแบบการทุจริตที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน เช่น อ้างชื่อคนเพื่อเบิกเงินทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้เข้ารับการรักษา หรือการสร้างชื่อพนักงานบริษัทขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อมาเบิกจ่ายแต่กลับพบว่ารายชื่อนั้นไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัท เป็นต้น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบคลินิกทันตกรรมให้การรักษาบริการไม่ถูกต้องอีก 7 แห่งด้วย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบทั้งระบบเช่นกัน” นายจิรวุสฐ์กล่าว


นายจิรวุสฐ์ กล่าวอีก อนุกรรมการฯได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด เพื่อให้ข้อเสนอแนะกับสปสช.ในการป้องกันปัญหาในอนาคต ประกอบด้วย 1.คณะทำงานดูความเสี่ยงทั้งหมดของระบบเบิกจ่ายเงิน แล้วสรุปผลให้สปสช.ปรับปรุงแก้ไข และ 2.คณะทำงานดูระบบบริการทั้งหมด รวมถึง การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการต่างๆ และการเลือกคลินิกที่มีความมั่นใจ

ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ในส่วนการตรวจสอบพบทุจริตในล็อตที่ 3 จำนวน 106 แห่ง มีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบอีกราว 9 แสน ถึง 1 ล้านคนอยู่ระหว่างการประสานและดำเนินการเพื่อหาหน่วยบริการรองรับ ส่วนมูลค่าความเสียหายรวมทั้ง 3 ล็อตเป็นเงิน 195 ล้านบาท กระทบรวมราว2 ล้านคน