‘เวิลด์แบงก์’คาดโควิด19 เพิ่มคนจนในเอเชียตอ.-แปซิฟิก
‘เวิลด์แบงก์’คาดโควิด19 เพิ่มคนจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ทำให้ประชากร38ล้านคนในภูมิภาคนี้ดำเนินชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานล่าสุด ที่บ่งชี้ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอของโรคโควิด-19 ทำให้ประชากรในประเทศต่างๆ 13 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจำนวน 38 ล้านคนดำเนินชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศต่างๆในภูมิภาคดังกล่าวล่มสลาย และการส่งออกปรับตัวร่วงลงอย่างมาก ทำให้หลายประเทศขาดรายได้ในส่วนนี้
มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆและตัวแปรจากภายนอก รวมถึง การล่มสลายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและความต้องการด้านการส่งออกที่อ่อนตัวลงในภูมิภาคทำให้ประชากร 38 ล้านคนใน13 ชาติเศรษฐกิจกำลังพัฒนาดำเนินชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนคือวันละ 5.50 ดอลลาร์ และทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)หดตัว 3.5% ในปีนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายประเทศมีความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาด ที่นำไปสู่การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และผลลัพธ์ของแต่ละประเทศจะขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของประเทศนั้นๆ ว่าสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด และประเทศได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (อีเอพี) จะเติบโตได้เพียง 0.9% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี2510 โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้พบว่า เศรษฐกิจประเทศจีนหดตัวลง 1.8% ส่วนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เศรษฐกิจหดตัวลงเฉลี่ย 4%
การแพร่ระบาดของโรคโควิดส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกใน 3 ด้านต่อประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอีเอพีคือ ความกังวลจากปัญหาโรคระบาด, ความกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยาวนาน ในส่วนของเศรษฐกิจจีน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าในปี 2563 จีดีพีจีนจะขยายตัว 2% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1% เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า จีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวสวนทางภูมิภาค โดยคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 1.8% ในปีนี้ และ 7.7% ในปีหน้า โดยได้แรงหนุนจากการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จ
หลังธนาคารโลกเผยแพร่รายงานได้ไม่นาน แบงก์ชาติจีน (พีบีโอซี) แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินว่า ธนาคารกลางจีนจะเดินหน้าสร้างความมั่นใจว่า กระแสเงินที่เพิ่มเข้ามาใหม่จะมุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิต ตลอดจนบริษัทขนาดกลาง, ขนาดเล็ก และขนาดย่อม
นอกจากนี้ พีบีโอซี ยังระบุว่า นโยบายการเงินที่รอบคอบจะเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าที่แม่นยำและทันท่วงที ซึ่งสนับสนุนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, การกลับมาทำงานและการผลิต ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง
พีบีโอซี ย้ำว่า นโยบายการเงินควรมีความยืดหยุ่นและตรงเป้าหมายมากขึ้น ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าการส่งมอบเครื่องมือนโยบายการเงินจะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงโดยตรง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเปิดเสรีภาคการเงินในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงรักษาความสมดุลระหว่างการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและการป้องกันความเสี่ยง
รายงานธนาคารโลก ยังคาดการณ์ถึงเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ว่า จะหดตัวลง 6.9% ในปีนี้ ก่อนจะดีดตัวขึ้นสู่ 5.3% ในปี 2564 และ 5.6% ในปี 2565
รายงานชื่อ “จากการควบคุมถึงการฟื้นฟู รายงานเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนต.ค. 2563 ของธนาคารโลก” ระบุว่า การหดตัวของเศรษฐกิจเป็นกระบวนการที่อาจจะชะลอความคืบหน้าในการบรรเทาความยากจนของฟิลิปปินส์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เติบโตเฉลี่ย 6.6% ในระหว่างปี 2558-2562 ซึ่งเป็นผลจากการจัดการที่รอบคอบในด้านการคลังระดับมหภาค, การลงทุนสำคัญในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทุนมนุษย์ รวมถึงสภาวะภายนอกประเทศที่เอื้ออำนวย แต่ผลกระทบจากโรคโควิด-19 กำลังฉุดให้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์เข้าสู่ภาวะถดถอย และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
โรคโควิด-19 ทำให้การส่งเงินกลับประเทศของแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานในต่างประเทศนั้น ลดน้อยลง และทำให้เกิดการสูญเสียตำแหน่งงาน อันเนื่องมาจากมาตรการคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด
รายงานชิ้นนี้ เสริมด้วยว่า การช่วยเหลือทางสังคมแก่ครอบครัวที่ยากจน รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมนั้น จะช่วยบรรเทาผลกระทบของโรคโควิด-19 และเร่งการฟื้นตัวในฟิลิปปินส์
ธนาคารโลกมองว่า อีกตัวแปรสำคัญคือการปิดโรงเรียนเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิดการเสียเวลาในการเรียนทั่วทั้งภูมิภาคประมาณ 0.7 ปีและผลพวงนี้ ทำให้รายได้ของนักเรียนหายไปโดยเฉลี่ย 4% ของรายได้ที่คาดว่าจะได้เมื่อเรียนจบออกไปทำงานในแต่ละปี
ที่สำคัญรายงานของธนาคารโลกระบุว่า ในประเทศส่วนใหญ่ของทั้งภูมิภาค พนักงานในอุตสาหกรรมภาคการผลิตและการบริการได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จากการใช้มาตรการล็อกดาวน์และความต้องการสินค้าและบริการที่ลดลงทำให้คนตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในธุรกิจบริการด้านอาหาร ที่พักอาศัย การก่อสร้างและการผลิต