'เกษียณอายุราชการ' บริหาร 'บำเหน็จ-บำนาญ' อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด

'เกษียณอายุราชการ'  บริหาร  'บำเหน็จ-บำนาญ' อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด

การ "เกษียณ" วนมาถึง เงิน "บำเหน็จ" "บำนาญ" ที่ข้าราชการเก็บหอมรอมริบ รวมถึงการออมและลงทุนผ่าน "กบข." กำลังจะได้ทำหน้าที่ของมัน ไม่ว่าเงินจะมากหรือน้อย สิ่งที่ต้องใส่ใจคือการวางแผน "การเงิน" ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลัง

"การเกษียณ" อาจเป็นสถานีสุดท้ายของวัยทำงานของกลุ่มราชการ แต่เป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของ "เงินบำเหน็จ" หรือ "เงินบำนาญ" ที่ผู้เกษียณอายุจะได้รับ สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับวัยเกษียณไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพกาย แต่ยังมีเรื่องสุขภาพทางการเงินที่ต้องใส่ใจดูแลไปจนลมหายใจสุดท้าย

ปัญหาที่พบบ่อยสำหรับคนวัยเกษียณกลุ่มข้าราชการ ไม่ใช่การ "เกษียณจน" เพราะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รองรับ ควบคู่สวัสดิการต่างๆ ที่ดีครอบคลุมความเสี่ยงต่างๆ อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งคือการบริหารจัดการเงินไม่ดีพอ จนส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในที่สุด

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวมทริคในการบริหารจัดการเงินที่น่าสนใจ สำหรับคน "วัยเกษียณ" ที่จะช่วยให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสม และมีความสุขในช่วงชีวิตบั้นปลายได้ไม่ยาก

  •  เกษียณอายุ แบบขอรับ "บำนาญ" 

ผู้เป็นสมาชิก กบข. และเลือกรับ "บํานาญรายเดือน" คือผู้ที่ยังไม่ต้องการตัดขาดจากระบบราชการยังประสงค์จะเป็นข้าราชการบํานาญ และรัฐยังอุดหนุนจุนเจือ ในด้านสวัสดิการต่างๆ อยู่ต่อไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร สําหรับประโยชน์ที่จะได้รับนอกเหนือจากสวัสดิการเหล่านี้คือ

1. เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วย เงินชดเชย เงินประเดิม เงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบ แทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข.จัดให้ คุณสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปี พร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจําปี

2. เงินบํานาญรายเดือน คํานวณจากนําเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แล้วนํามาคูณด้วยอายุราชการ หารด้วย 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เช่น คุณมีเงินเดือนเฉลี่ย 50 เดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และอายุราชการ 35 ปี 

ตัวอย่าง (30,000 x 25) ÷ 50 = 21,000 บาท
(แต่เงินบํานาญที่จะได้รับต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือน และอายุราชการต้อง ไม่เกิน 35 ปี)

3. เงินบําเหน็จดํารงชีพ คุณจะได้ 15 เท่า ของบํานาญรายเดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาท หากคิดตามตัวอย่างจะเป็นเงิน 315,000 บาท โดยจะจ่ายเมื่อปลดเกษียณ 200,000 บาท เมื่อครบ 65 ปี จ่ายอีก 115,000 บาท

4. เงินบําเหน็จตกทอด เมื่อผู้รับบํานาญถึงแก่กรรมก็จะมีบําเหน็จตกทอดแก่ทายาทอีก 30 เท่า ของบํานาญรายเดือน จากกรณีตัวอย่าง ทายาทจะได้ 315,000บาท คํานวณได้เท่าไรก็รับไปทั้งหมดโดยไม่แบ่งจ่าย ทายาทที่จะได้จะเป็นทายาทที่ผู้ถึงแก่ความตายได้แสดงเจตนาไว้

  •  ทริคบริหารเงินของผู้ได้รับเงิน "บำนาญ" 

ข้อดีสำหรับคนที่เลือกเงินแบบบำนาญ คือมีเงินที่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และยังมีสวัสดิการต่างๆ รองรับในกรณีฉุกเฉิน แบบไม่ต้องกังวล อย่างไรก็ตาม ทริคที่จะช่วยให้หยิบจับอะไรมากขึ้น คือการแบ่งเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือนสำหรับส่วนที่จำเป็นและต้องจ่ายเป็นประจำไว้อย่างชัดเจนก่อน เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ หรือแม้แต่คนที่ยังคงมีหนี้สินที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน จะต้องจัดเงินที่ได้รับมาเพื่อรับผิดชอบหนี้สิน ก่อนที่จะแบ่งเงินส่วนที่เหลือเป็นส่วนย่อยๆ เพื่อให้เห็นขอบเขตที่ชัดเจนก่อนใช้ เช่น ให้ลูกหลาน ท่องเที่ยว หรือใช้จ่ายเพื่อความสุขอื่นๆ ต่อไป 

  •  เกษียณอายุ แบบขอรับ "บำเหน็จ" 

การรับเงินแบบ "บำเหน็จ" คือการการเงินก้อนใหญ่ไปในคราวเดียว หลังจากเกษียณอายุราชการ แต่จะไม่ได้ประโยชน์จากสวัสดิการราชการต่อ โดยประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้เกษียณอายุจะได้รับ คือ

1. เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วยเงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อน ใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข.จัดให้ คุณสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปี พร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจําปีของคุณ

2. เงินบําเหน็จ คํานวณจากนําเงินเดือนเฉลี่ย 50 เดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการ เช่น เงินเดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และอายุราชการ 35 ปี

ตัวอย่าง 30,000 X 35 = 1,050,000 บาท

  •  ทริคบริหารเงินของผู้ได้รับ "บำเหน็จ" 

สำหรับคนที่เลือกรับเงินแบบ "บำเหน็จ" ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ ยิ่งต้องวางแผนการใช้จ่ายให้รัดกุมมากที่สุด เพราะหลายคนหวังพึ่งเงินส่วนนี้ในการโปะหนี้สิน หรือใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่อยากได้ เช่น แบ่งลูกหลาน ลงทุนทำอาชีพในฝัน ฯลฯ จนลืมคิดไปว่า เงินก้อนนี้จะต้องใช้จนถึงลมหายใจสุดท้าย

สมมติว่าได้เงิน 1,050,000 บาท ตามตัวอย่างข้างต้น หากคาดว่าจะมีอายุถึง 80 ปี นั่นหมายความว่าจะต้องใช้เงินส่วนนี้ใช้จ่ายต่อไปอีกอีก 20 ปี หรือ 240 เดือน จะมีเงินสำหรับใช้จ่ายแต่ละเดือนประมาณ 4,375 บาท (ไม่รวมเงินก้อนจาก กบข. ที่แต่ละคนจะได้รับ)

สิ่งสำคัญที่ลืมคิดไม่ได้ ในกรณีที่ขอรับ "บำเหน็จ" จะได้ไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ ของข้าราชการต่อไปเหมือนกับผู้ที่ขอรับเงินเกษียณอายุแบบ "บำนาญ" จะต้องไม่ลืมนึกถึง "ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ" ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงสำหรับคนสูงวัย โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว หรือหากใครที่มีประกันสุขภาพก็สามารถใช้รองรับค่าใช้จ่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกี่ยวกับสุขภาพเกิดขึ้นได้ โดยไม่กระทบต่อสุขภาพทางการเงิน 

 ข้อควรระวังสำหรับวัยเกษียณ! 

สิ่งที่ต้องระวังสำหรับผู้เกษียณอายุที่มีเงินก้อนจำนวนมากๆ อยู่ในมือหรือในบัญชีเยอะๆ คือการตกเป็นเป้าของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่มักจะหากลเม็ดมาหลอกล่อให้ลงทุนสร้างผลตอบแทนสูงๆ หรือหลอกขายสินค้าต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจของผู้สูงอายุในราคาสูง เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูง และถูกมองว่าอาจรู้ไม่เท่าทันในบางครั้ง

จะเห็นได้ว่า แม้หยุดทำงานแล้ว แต่ชีวิตยังคงดำเนินต่อ เช่นเดียวกับการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงและมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้น การวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ อย่างระมัดระวัง หลังจากเกษียณอายุราชการจะช่วยเป็นกรอบในการบริหารจัดการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ช่วยลดความเสี่ยง "เงินหมด" ก่อน "หมดลมหายใจ" และมีความสุขกับปั้นปลายชีวิตอย่างไม่ต้องกังวล

ที่มา: fpo กบข.