'เฉลิมชัย' จับมือทูต 62 ประเทศ ชู 3 นโยบายเสริมแกร่งเกษตรไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

'เฉลิมชัย' จับมือทูต 62 ประเทศ ชู 3 นโยบายเสริมแกร่งเกษตรไทย ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

“เฉลิมชัย” ประกาศนโยบายเกษตรต่างประเทศแก่ทูต 62 ประเทศ ชู 3 นโยบาย ความปลอด ความมั่นคง ความยั่งยืน พร้อมจับมือนานาประเทศ ผ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก ก้าวไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเสริมแกร่งสินค้า

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในจัดการแถลงนโยบายด้านการเกษตรให้แก่คณะทูตานุทูตประเทศต่าง ๆ ประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวม 62 ประเทศว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาภาคเกษตรไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยต่อยอดและปรับเปลี่ยนจากฐานเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกรในทุกมิติ และวางรากฐานโครงสร้างให้เกิดผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม โดยมีนโยบายด้านการเกษตรและอาหารที่สนับสนุนและมุ่งเป้าให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก

โดยมีกรอบการทำงานในการขับเคลื่อนร่วมกันใน 3 ด้าน หรือที่เรียกว่า “3 S” คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Safety) กำหนดให้การผลิตสินค้าเกษตรต้องมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับ ตลอดห่วงโซ่ จากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร สินค้าต้องได้รับรองมาตรฐาน GAP และ GMP จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ กำกับดูแล ตามสอบ ทั้งระดับฟาร์ม ระดับไร่นา และตรวจสินค้าเกษตรที่ส่งออก 

ด้านของความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร (Security) ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่สามารถส่งออกทั้งในรูปแบบแปรรูปและผลิตภัณฑ์ไปยังนานาประเทศ ตอกย้ำศักยภาพของการเป็นครัวของโลก และความพร้อมของการเป็นแหล่งสำรองอาหารของอนุภูมิภาคอาเซียน

160146287983

“ช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ ประเทศไทยไม่มีนโยบายห้ามการส่งออก มีแต่มาตรการที่จะทำให้เป็นไปอย่างปลอดภัย อีกทั้งยังสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศดำเนินการได้ตามกลไกของการตลาด และพร้อมที่จะร่วมมือผ่านกลไกภาครัฐหากมีความจำเป็น”

อีกทั้ง ยังพัฒนาศักยภาพเกษตรกร โดยการตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (AIC) โดยมีการตั้งศูนย์ AIC ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ และการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร (Big Data) เป็นต้น

ด้านความยั่งยืนของภาคการเกษตร (Sustainability) กระทรวงเกษตรฯ มีการบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการผลิตอย่างยั่งยืน ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรประมง และการจัดสรรที่ดินเพื่อการเกษตร การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การเพิ่มแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมถึงการบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา IUU ด้วย 

160146051915

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมที่จะร่วมมือกับทุกประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ในทุกกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานรองรับความต้องการของตลาด ส่งเสริมการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม