'6 ตุลา' ของคนรุ่นหลัง 'การเมือง' ที่ เราไม่ได้ลืม
ย้อนมองเหตุการณ์ "6 ตุลา" ผ่านทฤษฎี "การเมือง" เพื่อตอบคำถามว่า ทำไมเราไม่ควรลืม
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ที่ค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงถูกนำมาระลึกถึงอยู่เสมอ
ไม่ใช่แค่เพราะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ยากจะลืม แต่ผู้เขียนมองว่าเป็นเพราะประวัติศาสตร์ยังคงมีชีวิต บริบทของสังคมและความรู้สึกของประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นหลังที่สนใจต่อเหตุการณ์นี้แม้ว่า จะผ่านมา 40 กว่าปีแล้ว มีความเชื่อมโยงกันในหลายด้าน
และแทนที่วันเวลาจะทำให้ความทรงจำต่างๆ ลบเลือนไป วันเวลากลับทำให้ 6 ตุลา กลับมาถูกพูดถึงอยู่ตลอด และนับวันยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเทคโนโลยีและความพยายามของคนรุ่นหลังที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราว
นอกจากกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์จะถูกจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกๆ ปี นักวิชาการ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ รุ่นเก่า หลายคนยังคงพูดถึงเหตุการณ์นี้เมื่อกาลเวลาเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งในสื่อต่างๆ ที่น่าสนใจก็หนีไม่พ้นบทเพลง ประเทศกูมี ของ Rap Against Dictatorship เมื่อปีก่อน นอกจากเนื้อเพลงจะบาดจิตแทงใจหลายคนแล้ว ยังตอกย้ำสภาพสังคมอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร การคอรัปชั่น เสือดำ บ้านพักศาล มิวสิควิดีโอของเพลงเป็นฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตลอดความยาวเกือบ 5 นาที จนแวดวงสื่อและบรรดานักวิชาการออกมาให้ความเห็นและตีความ รวมทั้งรื้อฟื้นเหตุการณ์อยุติธรรมที่เกิดขึ้นมาได้อีกครั้ง
ที่น่าสนใจก็หนีไม่พ้นบทเพลง ประเทศกูมี ของ Rap Against Dictatorship เมื่อปีก่อน นอกจากเนื้อเพลงจะบาดจิตแทงใจหลายคนแล้ว ยังตอกย้ำสภาพสังคมอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร การคอรัปชั่น เสือดำ บ้านพักศาล มิวสิควิดีโอของเพลงเป็นฉากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ตลอดความยาวเกือบ 5 นาที จนแวดวงสื่อและบรรดานักวิชาการออกมาให้ความเห็นและตีความ รวมทั้งรื้อฟื้นเหตุการณ์อยุติธรรมที่เกิดขึ้นมาได้อีกครั้ง
แม้ว่าแบบเรียนวิชาสังคมหลายสำนักพิมพ์ แม้กระทั่งของกระทรวงศึกษาแทบไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์เดือนตุลาเลย จนผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า คนรุ่นหลังจะเรียนรู้พัฒนาการทางการเมือง และได้ศึกษาหาสาเหตุปัจจัยเพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์การเมืองซ้ำรอยได้เลยหรือ
แต่ความพยายามไม่พูดถึงไม่ได้ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วจางหายไปกับคนรุ่นก่อน เพราะเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลาฯ (Documentation of Oct 6) ที่ ศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัย ร่วมมือกันจัดตั้ง เพื่อเป็น หอจดหมายเหตุออนไลน์ สำหรับเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ โดยรวบรวมทั้งภาพถ่ายหลักฐานไม่ให้ใครมาบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้ มีบทความและข้อคิด ข้อมูลเหยื่อที่บางคนหายสาบสูญ บางคนเสียชีวิต และยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ความพยายามในการลบประวัติศาสตร์กับคนรุ่นหลังจึงไม่สามารถทำได้ด้วยวันเวลาและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
เหตุการณ์เดือนตุลา ได้ให้บทเรียนแก่สังคมไว้มากมาย ผู้เขียนจะชวนผู้อ่านไปดูบทเรียนที่เราได้จากประวัติศาสตร์นี้ ก่อนเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ทั้งปี 16 และ 19 ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการกว่า 1 ทศวรรษ การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และเรียกร้องทางการเมือง จนนำไปสู่ 14 ตุลาคม 2516 ที่ประชาชนล้มระบอบเผด็จการได้สำเร็จ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งต่อจากจอมพลสฤษดิ์ หนีออกนอกประเทศ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อของประชาชน และเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน
แต่ในระบอบเผด็จการหลายสิบปีนั้นได้แช่เย็นการพัฒนาทางการเมือง ทำให้การสร้างสถาบันเพื่อการมีส่วนร่วม และหาข้อยุติขัดแย้งขาดการพัฒนา เมื่อระบอบไม่สามารถรองรับกับข้อเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนที่พรั่งพรูออกมาในยุคประชาธิปไตยแบ่งบานได้จึงนำไปสู่สถานการณ์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519
เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นการล้อมปราบนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ประท้วงต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม โดยการปราบปรามการประท้วงนั้นนักศึกษาถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเป็นข้อห้าร้ายแรง ในขณะที่นักศึกษาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด เพราะการประท้วงนั้นมีเป้าหมายขับไล่จอมพลถนอม อย่างไรก็ตาม มีการชุมนุมต่อต้านการประท้วงของนักศึกษา สังคมเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และมีการใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัยจนนำไปสู่การรัฐประหารในเย็นวันนั้น
สภาวะในช่วงปี 2516 -2519 สอดคล้องกับ ทฤษฏีการพัฒนาการเมืองและความผุกร่อนทางการเมือง (Polical Development and Political Decay) ของซามูเอล ฮันติงตัน ( Samuel Huntington) ที่อธิบายว่า
ถ้าความเจริญทางการเมือง หรือ Political Modernization มีสูง ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองซึ่งออกมาในแง่การแสดงออกและเรียกร้องทางการเมือง แต่ระดับการพัฒนาการเมือง (Political Development) ได้แก่ การจัดตั้งสถาบันทางการเมืองขึ้นมาจัดระเบียบการมีส่วนร่วมนั้นอยู่ในระดับต่ำ ก็จะนำไปสู่ความผุกร่อนทางการเมือง หรือ ความวุ่นวายและการล้มลงของระบอบการเมือง
ผู้เขียนชวนผู้อ่านพิจารณาเหตุการณ์หลัง 6 ตุลา ประเทศไทยผ่านการชุมนุมครั้งใหญ่อีกหลายระลอก ที่น่าเศร้าคือนำไปสู่การทำรัฐประหารอีกหลายครั้ง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์ของประเทศในปัจจุบันที่ยังวนอยู่ในยุคเผด็จการครึ่งใบ
การพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องกับสังคมเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น การปฏิรูปประเทศเป็นเหตุผลที่คสช.(และคณะรัฐประหารทุกคณะ) ใช้อ้างในการยึดอำนาจไม่ได้เป็นการพัฒนาการเมือง แต่ยิ่งเป็นการแช่แข็งไว้ 5 ปีนับแต่เข้ายึดอำนาจด้วยการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกต่างๆ เมื่อเปิดให้มีการเลือกตั้งแทนที่สังคมจะคลายความขัดแย้ง แต่กลับทวีความรุนแรงจากแบ่งแยกกันด้วยสีเสื้อ เป็นการแบ่งแยกด้วยจุดยืนและอุดมการณ์เอาหรือไม่เอาเผด็จการ
การผลักดันให้เกิดการปฏิรูปอย่างจริงจังตามการเรียกร้องของประชาชนก็ไม่สัมฤทธิ์ผล เราได้เห็นการปฏิรูปการเมืองจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแล้วว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง การดูดผู้สมัคร หลังการนับคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ บัตรเลือกตั้ง นอกจากนี้การเลือกตั้งยังถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจด้วยซ้ำ ในขณะที่การพัฒนาการเมืองด้านอื่นๆ ก็หยุดนิ่งเพราะไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน
การโจมตีใส่สีตีไข่ยุค 4.0 ยังคงเป็นการใส่ร้ายป้ายสี กล่าวหากันและใช้ Fake news ไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์ดาวสยามในสมัยนั้น สร้างความเกลียดชังให้กับฝ่ายตรงข้ามทั้งๆ ที่เป็นผู้เห็นต่างร่วมชาติกัน
สิ่งที่กังวล คือ การวนอยู่อยู่ในระบอบเดิมๆ ความขัดแย้งที่ไม่ได้จางหายไป และการพัฒนาการเมืองให้ทันกับความตื่นตัวของประชาชนในยุคนี้แทบไม่แตกต่างจากยุคก่อน
การได้รำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ของคนรุ่นก่อนและรุ่นหลังจึงเป็นสิ่งเตือนใจว่าสังคมยังก้าวไม่พ้นวังวนเดิม ทบทวนบทเรียนเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขการเมืองให้ดีขึ้น และป้องกันไม่เดินซ้ำรอยเดิม