การเมือง
"คำสั่งเรียก กมธ." ไร้ผลบังคับ ส่อเปิดช่อง "รัฐบาล" ทุจริต ลอยนวล
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า อำนาจเรียกและลงโทษ ตามคำสั่งเรียกของกมธ. ไร้ผล คำถามตามมาคือ จะส่งผลอย่างไร ต่อการตรวจสอบฝ่ายบริหารในสภาฯ ที่ใช้ กลไกของ "กมธ." ขับเคลื่อน
พลันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยให้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ.2554 หรือ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ จำนวน 3 มาตรา คือ มาตรา 5 ว่าด้วยอำนานจของกมธ.ออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลหรือให้บุคคลแถลงข้อเท็จจริงหรือความเห็น, มาตรา 8 ขั้นตอนการออกคำสั่งเรียก และมาตรา 13 บทกำหนดโทษผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกของกมธ. มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 ว่าด้วยบทบาทของกมธ.ในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต่อการสอบหาข้อเท็จจริง หรือ ศึกษาเรื่องใดๆ
ซึ่งแปลความได้ว่า ดาบศักดิ์สิทธิ์ ที่ “กมธ.” ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้ตรวจสอบ "ฝ่ายบริหาร” ที่ส่อทุจริต กลายเป็นเพียง “ดาบกระดาษ” ไม่มีผลใดๆ ในเชิงปฏิบัติ การติดตาม และการลงโทษ
หากท้าวความเรื่องนี้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียก เกิดขึ้น จากความอัดอั้น ของฝ่ายค้านในสภาฯ ที่ไม่สามารถตรวจสอบ รัฐบาลเสียงข้างมากได้
ขณะที่บทบาทเดียวที่มี คือ “กรรมาธิการ” พบว่าหลายครั้ง เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง กลับไม่มาตามนัด ทำให้การทำงานตรวจสอบสะดุด
จึงเป็นที่มาของการ เขียนกฎหมายเพื่อใช้เป็นมาตรการบังคับ โดยมี “วิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งสมัยที่อยู่ในสภาฯ มีบทบาทเป็นมือตรวจสอบ “ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ” ที่กำหนดบทลงโทษขั้นรุนแรงหากไม่ได้รับความร่วมมือ จาก "เจ้าตัว" หรือ "ผู้บังคับบัญชา" ถึงขั้นดำเนินการลงโทษทางวินัย อาญา และเพ่ง
และหลังจากสิ้นคำวินิจฉัยเบื้องต้นของศาลรัฐธรรมนูญ “วิลาศ” ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ว่า จากนี้บทบาทของกมธ. ในสภาฯ จะขาดประสิทธิภาพทันที
กระบวนการออกคำสั่งเรียกของสภาฯ ตามพ.ร.บ.คำสั่งเรียก พ.ศ.2554
“วิลาศ" บอกด้วยว่า ไม่เพียงแค่ 3 มาตรา ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 เท่านั้น แต่กฎหมายทั้งฉบับ จะใช้ไม่ได้อีกในทางปฏิบัติ
เพราะ 3มาตราที่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพราะว่าด้วยการให้อำนาจ กมธ. เรียกเอกสาร เรียกบุคคลให้มาชี้แจงต่อกมธ. หากไม่มา กมธ.มีอำนาจ ลงมติเพื่อออกคำสั่งเรียกได้ และหากมีคำสั่งเรียกไปแล้วไม่ให้ความร่วมมือ จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายบัญญัติ
“แม้ในหลักการ มาตราอื่นๆ ของกฎหมายคำสั่งเรียก มีผลบังคับใช้ได้ แต่เป็นเพียงการกำกับการทำงานของกมธ. ที่ให้ทำงานโดยชอบตามกฎหมาย ไม่ให้มีผลเสียหายกับบุคคลหรือการปฏิบัติ แต่การเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริง หรือเรียกเอกสาร อาจไม่มีใครยอมส่งเอกสาร หรือให้ความร่วมมือมาชี้แจงต่อกมธ.อีก และผลที่เกิดขึ้นคือ กมธ.จะไม่มีผลงานในเชิงตรวจสอบ ซึ่งต่างจากอดีต” อดีตประธานกมธ.ปราบโกง ระบุ
ผลงานในอดีตที่ “อดีตประธานกมธ.ปราบโกง” ระบุ คือ การมีอำนาจเรียกบุคคลที่เข้าข่ายหรือ ถูกสงสัยว่ากระทำทุจริต รวมถึงเอกสารมาตรวจสอบในกมธ.ฯ ก่อนจะขยายผลให้หน่วยงานและองค์กรตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการต่อ ทำให้การตรวจสอบ และเอาผิดบุคคลทุจริต ทำผิดกฎหมาย รวดเร็ว กว่าที่จะให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. เร่ิมต้นกระบวนการสอบเอง
“เมื่อกมธ.ที่เป็นต้นทางสอบกระบวนการที่ไม่ชอบ ไม่มีอำนาจเรียกเอกสาร และบุคคลเข้าชี้แจงอย่างเด็ดขาดแล้ว แม้การตรวจสอบจะไม่หายไป เพราะองค์กรนอกสภาฯ ยังมีอำนาจ และบทบาทตรวจสอบ แต่เชื่อว่าการตรวจสอบ โดยเฉพาะ ฝ่ายบริหารนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ เขามีสิทธิบ่ายเบี่ยงไม่มา ไม่ให้ความร่วมมือได้ หากสมมติว่า รัฐบาลส่อทุจริต กลไกของสภาฯ จะทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ เพราะอาจตรวจสอบข้อมูลเฉพาะบุคคลที่มายื่นเรื่องได้เท่านั้น” อดีตมือปราบสภาฯ กล่าวในท้ายสุด
กระบวนการออกคำสั่งเรียก ตามพ.ร.บ.คำสั่งเรียก พ.ศ.2554
อย่างไรก็ตามแม้อำนาจของ “กมธ.“ จะถูกริบดาบ แต่ใช่ว่าการตรวจสอบภายใต้บทบาทของสภาฯจะหายไป
เพราะ กมธ. ยังสามารถออกหนังสือ เรียกบุคคล เรียกเอกสารตรวจสอบได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรคสี่และวรรคห้า กำหนดไว้
แต่เป็นภายใต้การให้ความร่วมมือ ไร้บทบังคับหรือลงโทษ
กล่าวคือ ให้อำนาจ กมธ. มีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือ เรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น ในเรื่องที่พิจารณาหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่ได้ และกำหนด “บังคับ” ให้ “รัฐมนตรี” ที่รับผิดชอบในเรื่องที่กมธ. หาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องนั้นๆ “ต้องสั่งการ" ให้เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดหรือในกำกับ ให้ข้อเท็จจริงหรือส่งเอกสารหรือแสดงความเห็นตามที่กมธ.เรียก
หากถามว่า เมื่อกมธ. เรียกเอกสารและบุคคล เข้าชี้แจงแล้ว ไม่ได้รับความร่วมมือ หรือรัฐมนตรี ไม่สั่งการให้ข้าราชการ บุคคลในสังกัดปฏิบัติ จะมีผลเช่นไร พูดได้ง่ายๆ คือ การฟ้องร้องว่า บุคคลนั้น ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
แต่ผลในเชิงปฏิบัติที่ต้องการให้เห็นผลอย่างฉับพลัน เร่งด่วน ที่เป็นคุณลักษณะของการตรวจสอบ ภายใต้ “กมธ.ฯ” คงไม่เกิดขึ้นให้ได้เห็นอีก.