'สรยุทธ' คุย รมว.ยุติธรรม เผยใช้ 'อีเอ็ม' ดูแลนักโทษ 15 ต.ค.นี้
ผู้ต้องขัง “สรยุทธ” คุย “รมว.ยุติธรรม” เผย 15 ตุลาคมนี้ ใช้ "อีเอ็ม" ดูแลนักโทษนอกเรือนจำ จ่อแก้กฎกระทรวง พิทักษ์สิทธิ์ผู้ต้องขัง ดันร่างกฎหมายลดโทษจำคุก คดียาเสพติดให้เป็นไปตามดุลยพินิจของศาล
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ ผ่านรายการ "เรื่องเล่าชาวเรือนจำ" ที่มีผู้ต้องขัง "นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา" อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดัง เป็นพิธีกรที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์ ว่า ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ศูนย์ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัว หรือ กำไลอีเอ็ม จะเปิดใช้งานหลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ทดสอบระบบไปแล้ว
กระทรวงยุติธรรม ภายใต้ศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน หรือ ศูนย์ JSOC (Safety Observation Ad hoc Center, Ministry of Justice) เพื่อติดตามผู้ต้องขังที่กระทำผิดซ้ำ หรือคดีที่มีโทษร้ายแรง จะเป็นหน่วยงานเพื่อประสานกับสังคมภายนอก ภายใต้กระบวนการยุติธรรมชุมชน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เป็นเครือข่ายดูแลเฝ้าระวัง
โดยผู้ต้องขังต้องปรับตัวในสังคม เพราะการพักโทษนั้นคือการปล่อยให้กลับไปทำความดี ไม่ใช่ทำผิดซ้ำ หรือหากกระทำผิดซ้ำจะถูกติดตามตัวนำตัวกลับเข้าสู่เรือนจำ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้การปล่อยตัวนักโทษผู้ต้องขังได้จำนวนมากขึ้น และช่วยลดความแออัดในเรือนจำ
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการพิจารณาพักโทษนั้น ตามเงื่อนไขคือ เป็นผู้ต้องขังที่ได้รับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ของจำนวนโทษที่ได้รับ และการพิจารณาพักโทษจะพิจารณาโดยคณะกรรมการพักโทษ โดยปกติแล้วจะผ่านพิจารณายาก เพราะกรรมการไม่มั่นใจว่าผู้ที่ถูกพักโทษจะไม่กระทำผิดซ้ำ ดังนั้นผู้ต้องขังที่จะได้รับการพักโทษ ต้องมีผู้ที่น่าเชื่อถือรับรอง กล่าวคือเป็นสิทธิของกรรมการพิจารณา ไม่ใช่สิทธิของผู้ต้องขัง
ดังนั้นการนำกำไลอีเอ็มมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามตัวจะทำให้การพิจารณาพักโทษง่ายขึ้น อีกทั้งตนเตรียมเสนอแก้ไขกฎกระทรวงผู้ที่ได้รับการพักโทษ หากกระทำผิดซ้ำ จะได้รับโทษที่เหลืออยู่ ไม่ใช่เร่ิมต้นรับโทษเต็มจำนวน เช่น ผู้ที่พักโทษ ไปใช้ชีวิตในสังคม 1 ปี แต่เดือนที่ 6 ทำผิดซ้ำ ต้องกลับมารับโทษในเรือนจำ1 ปี ดังนั้นต้องแก้ไขเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้ต้องขังด้วย
“ตามอำนาจของผม ที่มีสิทธิพิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องขัง ผมอาจจะพิจารณาปล่อยตัว หากจำคุกมาแล้ว 1 ใน 2 ของโทษที่ถูกตัดสิน หากผู้ต้องขังนั้นมีความประพฤติ ปฏิบัติดี และทำให้เกิดความมั่นใจว่าออกไปแล้วไม่ทำผิดซ้ำอีก โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมมีแนวทางพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขัง ส่งเสริมและฝึกอาชีพ ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สนับสนุนและพร้อมผลักดัน ทั้งนี้แนวทางฝึกอาชีพกระทรวงยุติธรรมเตรียมสร้างนิคมเพื่อฝึกงานนักโทษ ให้มีอาชีพ มีรายได้ และสร้างคนดีคืนสู่สังคม” นายสมศักดิ์ กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่าปัจจุบันนักโทษในเรือนจำ กว่า 3.8 แสนคนนั้น พบว่าเป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด กว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาต้องออกเป็นกฎหมาย โดยขณะนี้มีร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่ผลักดันในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา และฉบับสำคัญคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญร่วมของรัฐสภา ซึ่งเนื้อหานั้นจะทำให้ผู้ต้องขังคดียาเสพติดในปัจจุบันได้รับอานิสงส์เรื่องจำนวนปีที่ติดคุก หรือได้รับการลดโทษ
ขณะเดียวกันผู้ที่ค้ายาเสพติดจะถูกยึดทรัพย์ตามมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้จากการค้ายาเสพติด และผลักดันร่างกฎหมาย ให้ปลดล็อคกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีเงื่อนไขใช้ใบกระท่อมเป็นพืชสมุนไพร และเป็นพืชทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เบื้องต้นคาดว่า 3-4 เดือนจะผลักดันสำเร็จ
“เนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด นั้น จะแก้ไขการลงโทษจำคุก จากเดิมที่กำหนดช่วงเวลา เช่น มียาบ้า 1 เม็ดจากประเทศลาว โทษคือ 10 ปีถึงตลอดชีวิต ร่างกฎหมายใหม่แก้ไข ไม่เกิน 15 ปี, การครอบครอง เพื่อเสพไม่เกิน 15 เม็ด โทษเดิมคือ จำคุก 6 เดือนถึง 3 ปี ของใหม่คือ ไม่เกิน 2ปี คือเปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจการตัดสินลงโทษ ตามเหตุและผล ซึ่งผู้ต้องขังปัจจุบันจะได้รับอานิสงส์ด้วย แต่การผลักดันร่างกฎหมายนี้จำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้นผู้ต้องขังต้องบอกญาติข้างนอกว่า อย่าเดินขบวนให้รุนแรง เพราะรัฐบาลหรือรัฐสภาอยู่ไม่ได้ หากกฎหมายไม่ผ่านจะยุ่งกันใหญ่ หรือหากสะดุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนต่อไปไม่ทราบว่าจะทำให้หรือไม่ ทั้งนี้สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีพร้อมจะผลักดัน ภายในปีงบประมาณ 2564 ทำให้สำเร็จให้ได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว