ผ่ามาตรการรัฐฟื้นกำลังซื้อ หนุนค้าปลีกฝ่าวิกฤติลุ้น ‘รอดติดลบ’
เครื่องยนต์เศรษฐกิจการค้าของไทยอยู่ในภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง! ทุกภาคของค้าปลีกและทุกกลุ่มธุรกิจ เป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นับจากมาตรการผ่อนคลาย “ล็อกดาวน์” เดือน มิ.ย.
โดยอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสูง การส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ภาคการท่องเที่ยวอยู่ในสภาพกระอัก! และยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดระบาดโควิดรอบใหม่ ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจึงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งจากผู้ประกอบการ ภาคเอกชน โดยมียาแรงจาก “มาตรการรัฐ” เร่งให้เกิดการใช้จ่ายทยอยประกาศออกมาเป็นระลอก
ล่าสุด ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ส่งมาตรการกระตุ้นการบริโภค “ช้อปดีมีคืน” สนับสนุนด้านภาษี โดยให้นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีภาษี 2563 สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กลุ่มผู้ประกอบการประเภทผู้ค้าสินค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการขายหนังสือและสินค้าโอทอป ไม่รวมสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ค่าที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค.2563 เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปีภาษี 2563 ณ เดือน มี.ค.2564 คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากประชาชนได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งแล้วจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้
อานิสงส์ “ช้อปดีมีคืน” หวังเป็นหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกไต่ระดับฟื้นตัวจากพิษโควิดไม่มากก็น้อย ซึ่งก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ประเมินว่า "ค้าปลีก ปี 2563" ดีสุดแค่ทรงตัว! เท่าปีก่อนที่ไม่มีอัตราการเติบโต กรณีเลวร้ายจะเผชิญภาวะ “ติดลบ” เป็นครั้งแรก!
ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า มาตรการเยียวยา และกระตุ้นการบริโภค นับตั้งแต่ โครงการ “คนละครึ่ง” เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามด้วย “ช้อปดีมีคืน” เป็นผลให้ผู้บริโภคถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย “รอช้อป” “ช้อปรอ” และ “ไม่ช้อป ถ้า...”
ในกลุ่ม ”รอช้อป” สินค้าแบรนด์ กลุ่มนี้มีกำลังซื้อ ซึ่งมีอยู่ราว 6-8 ล้านคน เชื่อว่าต่างเฝ้ารอมาตรการจูงใจงามๆ จากภาครัฐและพร้อมที่จะผันเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านโครงการทดลองลดภาษีสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า
“คนกลุ่มนี้เน้นใช้จ่ายสินค้าคุณภาพ เป็นกลุ่มแบรนด์เนมเลิฟเวอร์! แต่วิกฤติโควิด ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศและชอปปิงสินค้าปลอดภาษี แบรนด์เนมได้อย่างเคย”
จากข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รายงานว่า ในปี 2557 ค่าใช้จ่ายที่คนไทยนำเงินไปใช้จ่ายไปต่างประเทศสูงถึง 178,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ใช้จ่ายชอปปิงสินค้าไลฟ์สไตล์แบรนด์เนมกว่า 51,000 ล้านบาท หากไทยดำเนินการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าว เชื่อว่า จะมีเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท
กลุ่ม ”ช้อปรอ” มาตรการลดหย่อนภาษี สถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน กลุ่มนักธุรกิจ ผู้บริหาร พนักงานสำนักงาน ที่ยังมีงานทำ แต่รายได้เริ่มลดลง! ซึ่งเป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด พบว่า พฤติกรรมกลุ่มนี้เริ่มซื้อสินค้าน้อยลง และให้ความสำคัญกับสินค้าจำเป็น! ดังนั้นแนวโน้มของคนกลุ่มนี้จะ “ซื้อแล้วรอ” กล่าวคือ ซื้อแต่ของจำเป็น แต่ถ้าเป็นสินค้าคงทนหรือสินค้ากึ่งคงทน จะรอมาตรการภาครัฐ อย่างเช่นโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” เมื่อปี 2558-2560 ซึ่งเป็นมาตรการทางภาษีที่บุคคลสามารถนำการใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษี ซึ่งมีอยู่ราว 4 ล้านคน
สำหรับปีนี้ มาตรการกระตุ้นการจับจ่ายภายใต้ชื่อ “ช้อปดีมีคืน” เป็นมาตรการทางภาษีที่บุคคลสามารถนำการใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีเช่นเดียวกับ “ช้อปช่วยชาติ” โดยกำหนดให้สามารถจับจ่ายสินค้าได้ทุกประเภทโดยมีวงเงิน 30,000 บาท ในระยะเวลาอย่างน้อย 70 วัน ซึ่งวงเงินอาจต่ำกว่าที่คาด จากประมาณการ 50,000 บาท น่าจะถูกใจกลุ่ม ”ช้อป รอ” นี้มากกว่า
สุดท้าย กลุ่ม “ไม่ช้อป ถ้า.. ภาครัฐไม่ให้หรือไม่สมทบ!” จัดเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดมากที่สุด ข้อมูลของผู้มีรายได้ในตลาดแรงงาน พบว่า กลุ่มที่รายได้ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้มีรายได้จำกัด จำนวน 15.5 ล้านคน หรือ 40% ของตลาดแรงงาน 38.2 ล้านคน ซึ่งมาตรการเยียวยา 5,000 บาท สำหรับผู้ประสบภัยโควิด ได้หมดอายุแล้วเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่โครงการ “คนละครึ่ง” รัฐร่วมจ่าย (Co-pay) 50% จำนวนไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท/คน ตลอดระยะเวลาโครงการ สำหรับการจับจ่ายใช้สอยสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป (ไม่รวมล็อตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบริการ) ณ ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม ร้านค้าทั่วไปที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น หาบเร่ แผงลอย และไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจแฟรนไชส์ ใช้วงเงินไม่เกิน 30,000 ล้านบาท เป้าหมายผู้รับสิทธิ 10 ล้านคน ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ รวมถึงโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มวงเงินการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีกคนละ 500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค. 2563) คนที่เคยได้ 200 บาท จะได้เป็น 700 บาท และคนที่เคยได้ 300 บาท จะได้เป็น 800 บาท โดยปัจจุบันมีผู้ถือบัตรประมาณ 14 ล้านคน ใช้วงเงิน 21,000 ล้านบาท
อุตสาหกรรมค้าปลีกไทย มูลค่า 3.5 ล้านล้านบาท อยู่ในห้วงถดถอยอย่างต่อเนื่อง ยิ่งมาเผชิญพิษโควิด กิจการขนาดใหญ่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ต้องปิดบริการนานเกือบ 2 เดือน กระทบ “ซัพพลายเชน” ทั้งระบบที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ เกษตรกร ทั้งเป็นศูนย์รวมแรงงานหลายระดับ
ต้องมาลุ้นกันว่ายาแรงชุดใหญ่โค้งสุดท้ายนี้จะฟื้นกำลังซื้อ หนุนธุรกิจค้าปลีกให้พ้นบ่วง “ติดลบ” ได้หรือไม่?