กอปภ.ก. รายงาน 31 จังหวัด ประสบภัยน้ำท่วม ปชช.เดือดร้อน 46,472 ครัวเรือน เสียชีวิต 3 ราย
ปภ. รายงานสถานการณ์อุทกภัย ดินสไลด์ และวาตภัย 31 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขัง 17 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบ 46,472 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย เร่งระดมสรรพกำลังคลี่คลายสถานการณ์และช่วยเหลือผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลากดินสไลด์ และวาตภัย ในพื้นที่ 31 จังหวัด รวม 114 อำเภอ 398 ตำบล 1,773 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 46,472 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย (จันทบุรี ตรัง และสุราษฎร์ธานี) บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ 17 จังหวัด ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง และสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากอิทธิพลพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 63 - ปัจจุบัน (21 ต.ค. 63 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และวาตภัย รวม 31 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ระยอง อุทัยธานี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง สตูล และสงขลา รวม 114 อำเภอ 398 ตำบล 1,773 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 46,472 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย (จันทบุรี ตรัง และสุราษฎร์ธานี) บาดเจ็บ 3 ราย (สิงห์บุรี) แยกเป็น
พื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 29 จังหวัด รวม 103 อำเภอ 383 ตำบล 1,565 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 46,406 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในจังหวัดจันทบุรี ตรัง และสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 12 จังหวัด ยังคงมีน้ำท่วมขัง 17 จังหวัด ดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่
- อุบลราชธานี แม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่งท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ประชาชนได้รับผลกระทบ 13 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- นครราชสีมา น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 12 อำเภอ 54 ตำบล 194 หมู่บ้าน ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปักธงชัย อำเภอโชคชัย อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอพิมาย อำเภอปากช่อง อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอเสิงสาง สถานการณ์ภาพรวมระดับน้ำทรงตัว
- บุรีรัมย์ น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคูเมือง อำเภอแคนดง อำเภอบ้านกรวด รวม 4 ตำบล 19 หมู่บ้าน ไม่มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่
- ปราจีนบุรี น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอ ศรีมหาโพธิ และอำเภอกบินทร์บุรี รวม 12 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 457 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- สระแก้ว ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอเมืองสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ และอำเภอโคกสูง รวม 9 ตำบล 2 เทศบาล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- ชลบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนัสนิคม และอำเภอเกาะจันทร์
รวม 10 ตำบล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง - ฉะเชิงเทรา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอแปลงยาวและอำเภอคลองเขื่อน รวม 2 ตำบล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่
- สุราษฎร์ธานี น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอพระแสง รวม 5 ตำบล 16 หมู่บ้าน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 ตำบล ระดับน้ำลดลง
- ตรัง ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง และอำเภอกันตัง รวม 6 ตำบล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- นครศรีธรรมราช ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลหลักช้าง อำเภอช้างกลาง ระดับน้ำลดลง
ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่
- อุทัยธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่สว่างอารมย์ และอำเภอเมืองอุทัยธานี รวม 7 ตำบล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- ชัยนาท น้ำไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวัดสิงห์ และอำเภอหันคา รวม 5 ตำบล 7 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- นครปฐม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกำแพงแสน อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอบางเลน อำเภอดอนตูม อำเภอพุทธมณฑล อำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี รวม 38 ตำบล 233 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- กาญจนบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย อำเภอท่ามะกา และอำเภอห้วยกระเจา รวม 8 ตำบล 21 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 294 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- สมุทรสงคราม น้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง สมุทรสงคราม อำเภออัมพวา และอำเภอบางคนที รวม 19 ตำบล 101 หมู่บ้าน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- สุพรรณบุรี น้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามชุก อำเภอสองพี่น้อง และอำเภอหนองหญ้าไซ รวม 10 ตำบล 63 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 7,534 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- ราชบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม รวม 6 ตำบล ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
พื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท กาญจนบุรี สิงห์บุรี และพังงา รวม 6 อำเภอ 9 ตำบล 18 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 59 หลัง ผู้บาดเจ็บ 3 ราย ในจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู
พื้นที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ภูเก็ต สตูล และกระบี่ รวม 5 อำเภอ 6 ตำบล 6 หมู่บ้าน ทั้งนี้ กรมป้องกันและ
บรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนเรือท้องแบน พร้อมเครื่องยนต์ รถบรรทุกติดตั้งเครน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยไปยังจุดอพยพ อีกทั้งแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค
เพื่อการดำรงชีพ สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัย พร้อมจัดทำบัญชี
ความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการประกอบอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ สาธารณูปโภค เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งซ่อมแซมและฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือ
โดยด่วนต่อไป