'เจ้าสัวเจริญ' จ่อตั้งกองทุนหมื่นล้าน ช้อนซื้อ 100 โรงแรมแห่ขายหนีโควิด

'เจ้าสัวเจริญ' จ่อตั้งกองทุนหมื่นล้าน ช้อนซื้อ 100 โรงแรมแห่ขายหนีโควิด

ธุรกิจโรงแรมไทยวิกฤติหนัก “แอสเสท เวิรด์” ธุรกิจอสังหาฯเจ้าสัวเจริญ เผยทุนไทยรุมเสนอขายโรงแรมกว่า 100 โครงการ หนีพิษโควิด เตรียมจัดตั้งกองทุนวงเงินหลักหมื่นล้านบาท ช้อนซื้อรีแบรนด์ใหม่ ระบุสนใจ 30 แห่ง เสริมพอร์ตสินทรัพย์ 1.24 แสนล้านบาท

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวอย่างแสนสาหัส เจ้าของโรงแรมในไทยหลายรายสายป่านยาวไม่พอ จึงตัดใจเสนอขายโรงแรมในมือหวังนำกระแสเงินสดมาเสริมสภาพคล่อง พยุงกิจการให้ไปต่อ ในภาวะที่ไม่รู้ว่าวิกฤติโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด 

โดยหนึ่งในกลุ่มทุนเนื้อหอมที่เจ้าของโรงแรมหลายรายสนใจเสนอขายโรงแรมให้คือบริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.24 แสนล้านบาท

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือAWC ยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวไทยอย่างหนัก จนเจ้าของโรงแรมหลายรายต้องการขายโรงแรมเพราะไปต่อไม่ไหว โดยปัจจุบันมีการติดต่อขอเสนอขายโครงการโรงแรมและพาณิชยกรรม (Commercial) ให้ AWC เข้าซื้อกว่า 100 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม มีทั้งระดับ 3-5 ดาว เสนอขายในราคาตั้งแต่หลักร้อยล้านบาทถึงแพงสุดหลักหมื่นล้านบาท ส่วนอีก 5-6 โครงการเป็นคอมเมอร์เชียล โดยตั้งอยู่ในกรุงเทพฯมากที่สุด และกระจายในต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี และอื่นๆ

100โรงแรมแห่เสนอขายเจ้าสัวเจริญ

“มีเจ้าของโรงแรมจำนวนมากติดต่อเข้ามายังAWCรวมถึงบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มสิริวัฒนภักดี เพื่อเสนอขายโครงการโรงแรมและคอมเมอร์เชียล เมื่อเจาะเฉพาะจำนวนโรงแรมที่เสนอขายให้AWCปัจจุบันมีกว่า 100 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นทุนไทย มีเชนโรงแรมรับบริหารอยู่ก็มี แต่เจ้าของเป็นคนไทย มาเสนอขายโรงแรมชัดเจนหลังเจอวิกฤติโควิด”

โดยในมุมของAWCมองว่านอกจากจะเป็นโอกาสในช่วงวิกฤติ สามารถซื้อโรงแรมเพื่อนำมาปรับปรุงสร้างคุณค่าแก่นักลงทุนของAWCแล้ว ตลาดโรงแรมยังต้องการเราเข้าไปช่วยต่อเวลา ช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบให้อยู่รอดจากวิกฤติโควิดซึ่งเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยพบเจอ

เตรียมตั้งกองทุนหมื่นล้านช้อนซื้อ

AWC จึงเตรียมจัดตั้งกองทุนในลักษณะ Opportunity Fund วงเงินหลักหมื่นล้านบาท ดึงนักลงทุนต่างชาติ เช่น กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund)จากทั้งในเอเชียและยุโรปมาร่วมลงทุนผ่านกองทุนดังกล่าวกับ AWC ซึ่งจะเป็นผู้บริหารกองทุนฯเพื่อช้อนซื้อโรงแรมในประเทศไทย ขณะนี้กำลังปรึกษาธนาคารทั้งในและต่างประเทศเพื่อเตรียมเรื่องจัดตั้งกองทุนฯ คาดว่าจะจัดตั้งได้ช่วงต้นปี 2564 โดยปัจจุบันAWCมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E)อยู่ในระดับต่ำที่ 0.7 เท่า

เล็งซื้อ30โรงแรมพัฒนาต่อ

“โรงแรมที่ AWC สนใจซื้อต้องอยู่ในเมืองที่มีศักยภาพ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นกี่ดาว แต่เน้นดูว่ามีโอกาสนำมาพัฒนา ปรับปรุง และรีแบรนด์หรือไม่ เพื่อให้ตรงกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ทั้งในแง่กระจายความหลากหลายของธุรกิจ และสร้างสมดุลเรื่องโลเกชั่นกับกลุ่มเป้าหมายที่เน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวและกลุ่มจัดประชุมสัมมนา โดยจากจำนวนโรงแรมที่เข้ามาเสนอขายกว่า 100 โครงการ พบว่า มี 30%ที่ตรงกับดีเอ็นเอของAWCและเมื่อมีข้อสรุปเรื่องดีลซื้อโรงแรม ก็สามารถรีแบรนด์ และสร้างรายได้และกระแสเงินสดได้ทันที”

ยืนงบลงทุน 5 ปี 5.5 หมื่นล้าน

นางวัลลภา กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการของAWCได้หารือเกี่ยวกับแผน 5 ปี (ตั้งแต่ปี2563-2567) โดยยังคงงบฯลงทุนรวมที่ 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบฯลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาทสำหรับการเดินหน้าโครงการโรงแรมใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 12 แห่ง ส่วนงบฯลงทุนอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาทกันไว้สำหรับลงทุนโครงการอื่นๆ ที่มีศักยภาพในอนาคต แต่ต้องดูจังหวะ (ไทม์มิ่ง) ให้ดี เมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมา ก็พร้อมเปิดให้บริการ โดยบางโครงการอาจต้องเลื่อนไปเปิดในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เช่น โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง ที่จะรีแบรนด์เป็นโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง

“คาดว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงต้นปี 2564 หลังจากผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทฯจึงต้องเตรียมความพร้อม และเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อเนื่อง จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 18 แห่ง รวมกับโรงแรมใหม่ล่าสุด บันยันทรี กระบี่ ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา มียอดจองห้องพักล่วงหน้าในเดือน พ.ย.นี้เข้ามาแล้วราว 25-30%”

ลุยผุดโครงการ“อควาทีคฯพัทยา”

ซีอีโอAWCกล่าวด้วยว่า สำหรับแผนพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูสแห่งใหม่ที่เมืองพัทยา ภายใต้ชื่อ “อควาทีค เดอะบีชฟรอนท์ พัทยา” บนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่ง AWC ตั้งเป้ายกระดับให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านไลฟ์สไตล์ระดับไอคอนแห่งใหม่ของพัทยา รองรับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์การค้าระดับลักชัวรี และพื้นที่สำหรับการแสดงศิลปะ บันเทิง และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร โดยในช่วงแผน 5 ปีนี้จะพัฒนาแล้วเสร็จเฉพาะตัวศูนย์การค้าก่อน ส่วนที่เหลือของโครงการฯจะถูกพัฒนาในระยะถัดไป

เมื่อเจาะแผนพัฒนาโรงแรมของAWCในเมืองพัทยา เฉพาะในโครงการอควาทีคฯจะมีโรงแรมรวม 3 แห่ง ได้แก่ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท เดอะ พัทยา บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา กับโรงแรมพัทยา แมริออท มาร์คีส์ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเน้นกลุ่มครอบครัวและกลุ่มจัดประชุมสัมมนา อีกแห่งคือโรงแรมอควาทีค พัทยา, ออโตกราฟ คอลเลคชัน ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือแมริออท อินเตอร์เนชันแนลเช่นกัน ส่วนโรงแรมอีกแห่ง เตรียมรีแบรนด์โรงแรมแกรนด์ โซเล่ พัทยา บีช มาเป็นโรงแรมแบรนด์ 5 ดาว ว่าจ้างเชนโรงแรมระดับนานาชาติอีกรายมาบริหาร