ธทป.ชี้โค้งท้ายเเบงก์เข้มปล่อยกู้ จ่อเพิ่มมาจิ้น-เงื่อนไขกลุ่มเสี่ยง
ธปท.เปิดผลสำรวจจากสถาบันการเงิน คาดสถาบันการเงินเข้มปล่อยกู้สินเชื่อธุรกิจเพิ่ม โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ชี้แบงก์มีแนวโน้มเพิ่มจิ้น ลูกค้ากลุ่มเสี่ยงและเพิ่มความเข้มงวดของเงื่อนไขสัญญากู้เพิ่ม พร้อมเข้มปล่อยกู้ลูกค้าใหม่ และธุรกิจที่ใช้เวลาฟื้นตัวนาน
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดผลสำรวจแนวโน้มสินเชื่อ โดยสำรวจจากผู้บริหารระดับสูงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ 27 แห่ง และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) 25 แห่ง ครอบคลุมสินเชื่อ 98.6%ของสินเชื่อทั้งระบบ
โดยจากผลสำรวจสถาบันการเงิน และนอนแบงก์เกี่ยวกับมาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 โดยสถาบันการเงิน ยังมีแนวโน้มเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่
ซึ่งสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่ม margin สำหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงและเพิ่มความเข้มงวดของเงื่อนไขประกอบสัญญาเงินกู้ (loancovenants) ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ SMEs มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะกับลูกค้าใหม่และกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน
ส่วนมาตรฐานการให้สินเชื่อไตรมาส 3 สำหรับภาคธุรกิจ เข้มงวดขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า จากความเสี่ยงของแต่ละภาคธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาความเข้มงวดของการให้สินเชื่อแก่เอสเอ็มอีลงบ้าง
สำหรับความต้องการสินเชื่อของธุรกิจในไตรมาส 4 คาดว่าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี จะยังต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเป็นสำคัญ โดยธุรกิจขนาดใหญ่มีแนวโน้มต้องการสินเชื่อเพื่อการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นซึ่งต่างจากเอสเอ็มอี SMEs ส่วนเอสเอ็มอีในภาคท่องเที่ยว มีแนวโน้มขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น จากผลดีของมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเฉพาะกลุ่มของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคครัวเรือน มีแนวโน้ม ใกล้เคียงเดิม ยกเว้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ สถาบันการเงินบางแห่งมีแนวโน้มเพิ่มความเข้มงวด เนื่องจากคาดว่าราคาของหลักประกันจะปรับลดลงตามอุปทานรถยนต์มือสองที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งจากผลของ “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ระยะที่ 2” ของ ธปท. ที่ทำให้การยึดหลักประกันทำได้ล่าช้ากว่าปกติ ทั้งนี้ คุณภาพของสินเชื่อภาคครัวเรือนทุกหมวดยังมีแนวโน้มด้อยลง ส่วนหนึ่งเนื่องจาก ผลของ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยดังกล่าวข้างต้นบางส่วนทยอยสิ้นสุดลงในไตรมาสที่ 4
สำหรับไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มาตรฐานการให้สินเชื่อใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า โดยสถาบันการเงินเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอนทำให้ประเมินรายได้และความน่าเชื่อถือ ของผู้กู้ได้ยาก
สำหรับแนวโน้มสินเชื่อครัวเรือนไตรมาส 4 ความต้องการสินเชื่อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อ เช่าซื้อรถยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน นอกจากนี้เงินออมของครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่น ๆ ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย