สหรัฐตัดจีเอสพีเตือนส่งออก รับมือเงื่อนไขการค้าใหม่

สหรัฐตัดจีเอสพีเตือนส่งออก    รับมือเงื่อนไขการค้าใหม่

จากการที่สหรัฐ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไปหรือ GSP ที่ย่อมาจากGeneralized System of Preferences เป็นสิทธิทางการค้าแบบให้ฝ่ายเดียว แต่ผลกระทบแม้จะไม่มากแต่เป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการค้าไทย-สหรัฐ

จากการที่สหรัฐ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรทั่วไปหรือ GSP ที่ย่อมาจากGeneralized System of Preferences เป็นสิทธิทางการค้าแบบให้ฝ่ายเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเคยได้รับจากสหภาพยุโรปแต่ถูกตัดสิทธิไปเมื่อหลายปีก่อน และล่าสุดไทยยังได้รับสิทธิGSPจากสหรัฐและอีกหลายประเทศ แต่มูลค่าการใช้สิทธิของไทยในตลาดสหรัฐนี้สูงสุด 

โดยสิทธิ GSP ทั้ง 4 ระบบได้แก่ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง ม.ค.-ก.ค.2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 2,546.60 ล้านดอลลาร์ขยายตัว 2.61% คิดเป็นสัดส่วน 81.32% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐ มีมูลค่าอยู่ที่2,243.21 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 0.49% คิดเป็นสัดส่วน 83.24%จากสถิติจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม การที่สหรัฐตัดสิทธิGSPจึงเป็นเรื่องราวใหญ่โต 

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากนี้ไปผู้ส่งออกต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแข่งขันที่จะยากลำบากขึ้นเพราะกลุ่มสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐเมื่อไม่มีสิทธิGSP แล้วก็เหมือนไม่มีแต้มต่อ ขณะที่คู่แข่งบางประเทศยังแต้มต่อจากสิทธิพิเศษทางภาษีในรูปแบบต่างๆ

ดังนั้น การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงผู้ส่งออกควรดึงจุดแข็งของสินค้ามาเป็นแต้มต่อและสร้างอำนาจต่อรองกับผู้นำเข้า เพื่อเป็นอีกหนทางที่จะช่วยให้รักษาสถานการณ์การส่งออกไว้ เพราะสินค้าไทยมีจุดแข็งคือเป็นที่ต้องการของตลาด โดยแนวทางหนึ่งที่สามารถต่อรองได้คือ การแบ่งส่วนต่างจากอัตราภาษีที่จะเพิ่มขึ้นให้ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายปลายทางร่วมกันรับผิดชอบเพื่อให้ภาระที่จะเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบให้น้อยที่สุด

“เราต้องลดต้นทุน  ต้องต่อรอง ต้องบริหารจัดการใหม่ เพื่อให้ภาระที่เพิ่มขึ้นจากภาษีกระทบการส่งออกไปตลาดสหรัฐให้ได้มากที่สุดซึ่งกลุ่มสินค้าที่ถูกตัดสิทธิต้องเรียนรู้และพูดคุยกับคู่ค้าในตลาดปลายทางให้ได้ข้อสรุปที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”

160432396019

กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่าสาเหตุที่ไทยถูกตัดสิทธิGSP ครั้งนี้มาจากการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสหรัฐ เห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าของไทยนั้น ไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล แม้ไทยชี้แจงอย่างต่อเนื่องถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสุขอนามัยของประชาชน โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 30 ธ.ค. 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การตัดสิทธิฯ ดังกล่าวมีจำนวน 231 รายการ เป็นสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ จริงในปี 2562 จำนวน 147 รายการ คิดเป็นภาษีที่ต้องกลับไปเสียในอัตราปกติมูลค่าประมาณ 19 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 600 ล้านบาท มิใช่ 25,000 ล้านบาทมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ พวงมาลัยรถยนต์ กรอบโครงสร้างแว่นตาทำด้วยพลาสติก เคมีภัณฑ์ เกลือฟลูออรีน ที่นอนและฟูกทำด้วยยางหรือพลาสติก หีบกล่องทำจากไม้ ตะปูควงสำหรับใช้กับไม้ อะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง เป็นต้น

ขณะนี้ สหรัฐ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการ GSP โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย ทั้งนี้ อาจมีความล่าช้าและต่ออายุไม่ทันระยะเวลาสิ้นสุดโครงการโดยปกติแล้ว ขั้นตอนการพิจารณาเพื่อต่ออายุโครงการอาจใช้เวลาหลายเดือน และต่ออายุให้หลังจากหมดอายุแทบทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา หากสหรัฐต่ออายุโครงการไม่ทันกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการ สหรัฐ จะให้สิทธิฯ ย้อนหลัง

160432399673

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออก กล่าวว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐตัดสิทธิGSPไทยน่าจะมาจากการที่ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐคิดเป็น2เท่าของที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐ ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐขาดดุลการค้าไทยมาอย่างต่อเนื่องแม้จะไม่ใช่มูลค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ

“เป็นสิ่งที่ต้องเตือนผู้ส่งออกไทยว่า การส่งออกไปตลาดสหรัฐทั้งมูลค่า ปริมาณและอัตราขยายตัวที่เพิ่มขึ้น กำลังจะเป็นค่าใช้จ่ายตามมาทีหลังเพราะสหรัฐเริ่มมองว่าไทยไม่อยู่ในข่ายที่ต้องให้ความช่วยเหลืออีกต่อไป”

อย่างไรก็ตาม การตัดสิทธิ GSP ยังถือว่าดีกว่าการกำหนดมาตรการตอบโต้ทางการค้าเพราะนอกจากจะไม่เป็นการลดภาระทางการค้าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภาระทางการค้า เช่น กรณีการเก็บภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือADสินค้ากุ้ง ซึ่งในครั้งนั้นผู้ส่งออกไทยต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นหลักพันล้านดอลลาร์และแม้จะต่อสู้เป็นคดีความและชนะแต่กว่าจะได้เงินคือก็ใช้เวลาหลายปี

นอกจาก ประเด็นด้านการค้าที่ไทยอาจถูกเพ็งเล็งจากสหรัฐแล้ว ด้านการลงทุนก็ต้องระมัดระวังเพราะหลังกรณีสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ทำให้มีทุนจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และทุนเหล่านี้ก็ใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษทางภาษี ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การส่งออกไทยไปสหรัฐมีอัตราขยายตัวสูงขึ้นในช่วง1-2 ปีที่ผ่านมา

จากนี้ไปการส่งออกไปตลาดสหรัฐจะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ความน่าสนใจของตลาดนี้ยังมีอยู่เพราะมีสัดส่วนต่อการส่งออกของไทยทั้งหมดถึง 10% ทำให้ภาคการส่งออกไทยต้องตอบรับสัญญาณจากการตัดสิทธิGSPครั้งนี้และแปลงความไปสู่การปรับตัวในทางที่ดีขึ้น

160432403838