สธ.เผย 3 รายติด 'โควิด19' ใน ASQ สมุทรปราการ เชื้อตัวเดียวกัน
3 รายติด "โควิด19" ใน ASQ สมุทรปราการ เชื้อตัวเดียวกันแพร่ระหว่างกัน เหตุอยู่ห้องพักใกล้กัน สันนิษฐานเชื้อจากห้องต้นตอลอยลมออกสู่ภายนอก ตกบนโต๊ะพื้นที่โถงกลาง เร่งเก็บตัวอย่างจากช่องแอร์ตรวจหาเชื้อ
เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนโรคหญิงฝรั่งเศสที่ติดโควิด19ในสถานที่กักกันทางเลือก(Alternative State Quarantine:ASQ)จ.สมุทรปราการ ก่อนเดินทางไปและมีอาการที่อ.เกาะสมุยว่า ผู้ติดเชื้อที่เข้าพักในสถานที่กักตัวทางเลือกเดียวกันและช่วงเวลาเดียวกัน 3 รายรวมหญิงชาวฝรั่งเศส ทั้งหมดพักอยู่ห้องพักติดกันและตรงข้ามกัน คือ ห้อง 607,609 และ 631 ในช่วงวันที่ 12-15 ตุลาคม จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งสายของเชื้อ พบว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกัน และมีลักษณะส่วนใหญ่เหมือนกัน ถือว่ามีความเชื่อมโยงกัน ส่วนเชื้อที่พบในฟิตเนสนั้นเป็นซากเชื้อที่ไม่สามารถแพร่โรคได้ ถือว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
จากกรณีพบว่าเชื้อที่พบในผู้ติดเชื้อทั้ง 3 ราย เป็นตัวเดียวกันนั้น จึงต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม และหาจุดที่เชื่อมโยงการติดเชื้อกัน โดยตั้งต้นจากธรรมชาติของการแพร่เชื้อทางอากาศ โดยมีวิศวกรจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และนักระบาดวิทยาเข้าไปสอบสวนในเชิงโครงสร้างใน 3 ระบบ คือ 1.ระบบระบายอากาศ พบว่าแอร์ในห้องเป็นระบบหมุนเวียนเฉพาะภายในห้อง ไม่มีการหลุดออกมานอกห้อง 2.ระบบพัดลมระบายอากาศในห้องน้ำก็ไม่หลุดออกไปที่ห้องอื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นจุดแพร่เชื้อแต่อย่างใด และ3.ระบบบน้ำทิ้ง พบว่าท่อวิ่งในแนวดิ่งไม่ข้ามฝั่งไปยังห้องตรงจข้าม
"จากการสันนิษฐาน ย้ำว่าเป็นเพียงการสันนิษฐาน จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าเวลาผู้ติดเชื้อรายแรก คือ จากห้อง 631 เชื้อจะหมุนเวียนอยู่ในห้อ เมื่อมีการเปิดประตูห้องออกมา ซึ่งจะมีลมพัด ทำให้พัดเอาเชื้อลอยออกมา ลอยอยู่ในโถงหน้าห้องหรือตกลงบนพื้นสัมผัส ซึ่งห้องผู้ติดเชื้ออีก 2 คน อยู่ฝั่งตรงข้าม ระยะห่างจากกันเพียง 1.8 เมตร หน้าห้องมีโต๊ะอาหารวางอยู่ โดยเดิมโถงทางเดินจะมีลมปล่อยผ่าน แต่ช่วงโควิดได้ปิดเอาไว้ ทำให้อากาศหยุดนิ่ง ทำให้เชื้อลอยอยู่ได้นาน 3 ชั่วโมง และตกลงพื้นผิวต่างๆ แต่จากการสอบสวนหญิงฝรั่งเศสก็ให้ข้อมูลว่าสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกมานอกห้อง จึงสันนิษฐานว่าจะเกิดการติดเชื้อในช่วงออกมารับอาหาร ดังนั้นเรื่องนี้ยังต้องสอบสวนต่อไป โดยอยู่ระหว่างการส่งตัวอย่างที่เก็บจากช่องแอร์และพื้นที่ส่วนกลางบริเวณโถงทางเดินระหว่างห้องไปตรวจ" พญ.วลัยรัตน์ กล่าว
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธฺบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากผลสอบสวนดังกล่าวแปลว่าทั้ง 3 รายมีความเชื่อมโยงกัน และมีข้อสันนิษฐานว่าเกิดจากการถ่ายเทอากาศไม่ดี ต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม และจากข้อมูลนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเน้นย้ำไปยังสถานที่กักตัวทั้งหลาย เน้นย้ำเรื่องการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางและระบบระบายอากาศ