'ชวน'เผยต่อสาย'สุรยุทธ์' ของดออกความเห็นการเมือง ชี้อำนาจปธ.สภา ส่งศาลตีความร่างรธน.
"ชวน" เผยต่อสายหา "สุรยุทธ์" ประธานองคมนตรี แสดงความห่วงใย-ของดออกความเห็นการเมือง ส่วนประเด็นยื่นตีความ3ญัตติแก้รธน.อำนาจประธานสภาฯ
นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณี ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับว่า ได้รับเรื่องที่ยื่นมาแล้ว โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกฎหมายจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งการยื่นสามารถทำได้ ส่วนกระบวนการว่าจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะส่งได้ทุกเรื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับรายละเอียดแต่ละเรื่อง มีทั้งกรณีที่ส่งและไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นส่งผลต่อกระบวนการพิจารณาในวันที่ 17 -18 พ.ย.นี้
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มไอลอว์ นายชวน กล่าวว่า วันนี้จะดูเรื่องระเบียบวาระ เนื่องจากวันที่ 12 เป็นวันสุดท้าย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชื่อคัดค้านการเสนอร่าง ซึ่งจากจำนวนกว่าแสนคน มีร้องค้านประมาณ 400 กว่าคน
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวน กล่าวว่า ได้คุยกับพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ทางโทรศัพท์ ซึ่งได้ให้ความเห็นในฐานะองคมนตรีว่า ไม่สามารถให้ความเห็นทางการเมืองได้ แต่พลเอกสุรยุทธ์ก็ขอให้ทุกฝ่ายให้แก่ส่วนรวม
นายชวนกล่าวว่า ขอประชาชนอย่าเป็นกังวล งานที่รับมาก็ต้อทำ ส่วนความเห็นที่ขัดแย้งไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องธรรมดา หากไม่มีคงเป็นเรื่องไม่ปกติ ซึ่งกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐบางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนทำให้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ต้องออกมาขอโทษนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีอะไรไปโกรธใคร แต่เมื่อมีการพาดพิงถึงบุคคลภายนอกก็จำเป็นต้องปกป้อง ไม่เช่นนั้นอาจจะไปทาบทามบุคคลใดก็จะลำบาก ซึ่งผู้ใหญ่อดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนให้ความเห็นที่ดี ซึ่งเมื่อเช้านี้ได้พูดคุยกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ให้ความเห็นว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ยินดีอย่างยิ่ง และจะให้ความร่วมมือในการคลี่คลายปัญหาบ้านเมือง
ส่วนโครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์ นายชวน กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าจะส่งโครงสร้างมาที่สภาผู้แทนราษฎรภายในวันนี้ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมามีความพยายามทำให้โครงสร้างรูปแบบที่ 1 คือการหารือฝ่ายต่างๆ รวม 7 ฝ่าย เกิดขึ้นไม่ได้ ซึ่งหากต้องการจะทำให้ครบทุกฝ่าย ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้นไปก่อน และคณะที่ได้มาก็ทำงานไป ส่วนโครงสร้างรูปแบบที่ 2 ก็จะเป็นโครงสร้างที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์รอบรู้ เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวข้างหน้าต่อไป และขอให้อดทน ค่อยๆ เจรจาให้ทุกฝ่ายมาร่วมงานกัน
ส่วนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ นายชวน กล่าวว่า ปกติจะมีการบรรจุระเบียบวาระตามลำดับที่กฎหมายเข้ามา ซึ่งวันพรุ่งนี้จะประชุมคณะกรรมการประสานงานของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หารือกันถึงการบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภาวันที่ 17 ถึง 18 พฤศจิกายนนี้ โดยทราบว่าฝ่ายค้านก็จะส่งร่างกฎหมายเข้ามาประกบเช่นเดียวกัน หากมีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน ก็สามารถพิจารณาพร้อมกันได้