คงดอกเบี้ย ดูแลเศรษฐกิจไทย
วานนี้ (18 พ.ย.63) กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องระวัง จากสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว ปัจจัยลบที่จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมเมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% กนง.ดำเนินการครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดมากขึ้น และแม้ข้อมูลสำคัญในไตรมาสที่ 3 ของปี เศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด แต่ยังมีเรื่องที่ต้องระวังแนวโน้มฟื้นตัวช้าและแตกต่างกันมากในเศรษฐกิจแต่ละภาค ตลาดแรงงานยังคงมีความเสี่ยง รายได้ของแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ กดดันการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเมื่อปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวเริ่มหมดลง
กนง.มีประเด็นความกังวลสำคัญต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเร็ว เป็นปัจจัยลบกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง แนะนำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ติดตามตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด พร้อมให้พิจารณาการดำเนินออกมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม สาระสำคัญข้างต้น เป็นการช่วยให้ภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มติดเครื่องรอบใหม่ ไม่สะดุด ยังเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้ใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงที่สุด
การส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนของ กนง.ครั้งนี้ นับเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุด เกาถูกที่คัน ทำให้บรรยากาศการค้าการลงทุนน่าจะกลับมาคึกคัก อย่างกรณีค่าเงินบาทที่ผ่านมา ถือเป็นตัวแปรสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะความสามารถในการสร้างรายได้เข้าประเทศถูกบั่นทอน และยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีค่าเงิน เนื่องจากปัจจุบันเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ที่ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าเกือบ 10% ในรอบ 11 เดือน เป็นการแข็งค่ามากกว่าคู่ค้าส่วนใหญ่ ทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งอย่างเวียดนามอย่างชัดเจน เนื่องจากเวียดนามนับแต่เดือน เม.ย.2563 ถึงปัจจุบันแข็งค่าเพียง 1.66%
เราเห็นด้วยกับการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เห็นด้วยกับคำแนะนำให้ ธปท.ดูแลค่าเงินที่เหมาะสม เรามองว่าเป็นจังหวะที่ต่อเนื่องหลังจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2563 ลดลง 6.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปีนี้ 9 เดือนแรกจึงติดลบแค่ 6.7% สศช.ได้ปรับประมาณการจีดีพีทั้งปีจากเดิมลบ 7.3-7.8% เป็นลบเพียง 6%
เชื่อว่าจากนี้ไปภาคเอกชนจะมีความมั่นใจในการลงทุน เพราะปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เริ่มน้อยลง อย่างไรก็ดี ความคาดหวังในการให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติหรือเทียบเท่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี ต้องไม่ลืมตัวแปรทางการเมืองที่วันนี้ยังติดหล่ม เป็นโจทย์ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตระหนัก รวมถึงนักการเมืองที่อ้างว่าทำหน้าที่ ส.ส. สว. เพื่อประชาชนและเพื่อชาติ จะต้องสำเหนียก ให้มากกว่านี้