เจาะเครือข่าย 'การ์ด' ราษฎร '2 ก๊ก' อาชีวะ จัดทัพใหม่
การยกระดับของกลุ่ม "การ์ดอาชีวะ" เป็นไปตามแรงขับเคลื่อนของ "ม็อบราษฎร" พวกเขามีรูปแบบเฉพาะตัวในการดูแลกันเอง มีกฎและระบบบางอย่างที่คนเรียนอาชีวะ เข้าใจกันเองได้ดีที่สุด
การเข้าควบคุมตัว “ปิยะรัฐ จงเทพ”หรือ “โตโต้” หัวหน้าการ์ดอาสา หรือ กลุ่ม Wevo ที่ย่อมาจาก We volunteer ซึ่งมีการใช้สัญลักษณ์ “ปลอกแขนสีเขียวสะท้อนแสง” ระหว่างการชุมนุมครั้งที่ผ่านมา เป็นการควบคุมตัวก่อนการชุมนุมที่บริเวณหน้า “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” เพียงวันเดียว
แน่นอนว่า การที่ตำรวจดำเนินการกับ “โตโต้” เพราะคงประเมินกันแล้วว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอีกส่วนในการขับเคลื่อนการชุมนุมของ “กลุ่มราษฎร” นั้นคือ “การ์ด” แต่องคาพยพของการ์ดผู้ชุมนุม ไม่ได้มีเพียงกลุ่ม “การ์ดอาสา” เท่านั้น ยังมี “การ์ดอาชีวะ” ที่รวมตัวกันจากหลากหลายสถาบันขึ้นเป็นกลุ่มต่างๆ
การ์ด 2 ก๊ก ต่างฝ่ายต่างเดิน
ทั้ง “การ์ดอาสา” และ “การ์ดอาชีวะ” ถือว่าแยกกันเป็นเอกเทศ เนื่องจาก “การ์ดอาสา” ที่ “โตโต้” ถือธงนำนั้น จะมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่าง คือ จะยึดเฉพาะกลุ่มตัวเอง โดยไม่ประสานงานกับกลุ่ม “การ์ดอาชีวะ” แต่อย่างใด ทั้งที่ “การ์ดอาชีวะ” มีความพยายามจะประสานความร่วมมือมาโดยตลอด แต่ก็ไม่เป็นผล จึงต้องเลือกเส้นทางต่างคนต่างเดิน จนเห็นได้ชัดเจนคือ“กลุ่มการ์ดอาสา” หรือ Wevo จะพิจารณาไปร่วมเฉพาะบางการชุมนุม แต่กลุ่มอาชีวะจะไปทุกการชุมนุม
ยก “การ์ด” สูง
แรกเริ่มเดิมที “การ์ดอาชีวะ” มีกลุ่ม “ฟันเฟืองประชาธิปไตย” เป็นแกนหลัก ก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มต่างๆ อาทิ มวลชนปลดแอก มวลชนอาสา อาชีวะพิทักษ์ประชาชน พิราบขาว การ์ดคณะราษฎร ฉก.เฉพาะกิจ เป็นต้น
จนมีการจัดทัพใหม่ มีการแถลงของ “แกนนำการ์ดอาชีวะ” พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเรียกตัวเองเป็น“การ์ดภาคีเพื่อประชาชน” ประกอบด้วย 10 กลุ่ม ได้แก่
1. ทีมการ์ดปลดแอก 2.ทีมการ์ดมวลชน 3. ทีมการ์ดราษฎร 4. ทีมราษฎรฝั่งธน 5. ทีมการ์ดเฉพาะกิจ 6. ทีมการ์ดอากิระพลังมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มนักเพาะกาย 7. ทีมองค์กรบอดี้การ์ด สเปเชี่ยล ฟอร์ซ โดยเป็นทีมของครูพลาม ซึ่งเป็นอดีตหน่วยซีล 8.ทีมพิราบขาว 9. ทีมการ์ดฟันเฟืองประชาธิปไตย และ 10. ทีมอาชีวะพิทักษ์ประชาชน ที่ตั้งขึ้นใหม่
มีการเปิดเผยข้อมูลว่า แต่เดิมการชุมนุมแต่ละครั้งจะมีการ์ดอาชีวะร่วมการชุมนุมอยู่ด้วย ทั้งคนสวมปลอกแขนและไม่สวมปลอกแขน ประมาณ 500-1,000 คน แต่เมื่อมีการรวมตัวกันเป็น“การ์ดภาคีเพื่อประชาชน” จำนวนการ์ดอาชีวะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1,500 คน ต่อการชุมนุม ตามที่แกนนำบางคนกล่าวอ้าง ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ประมาณ 90% ผู้หญิง 10 % มาจากสถาบันต่างๆทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประมาณ 30-40 สถาบัน
ต้องผ่านการการันตี
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ ได้พูดคุยกับหนึ่งในแกนนำ “การ์ดภาคีเพื่อประชาชน” อย่าง “นายเกวลังธัญญเจริญ” หรือ “เก่ง อาชีวะ” ศิษย์เก่าสถาบันอาชีวะแห่งหนึ่งใน กทม. ที่มีบทบาทเป็นผู้ประสานงานกลุ่ม และเป็นเหยื่อกระสุนบริเวณต้นขาซ้าย จากเหตุการณ์การชุมนุมที่บริเวณแยกเกียกกาย เพราะพยายามเข้าไปห้ามมวลชนไม่ให้มีการเผชิญหน้า เปิดเผยว่า อาชีวะคนไหนที่จะเข้ามาร่วมเป็นการ์ดให้กับผู้ชุมนุม จะเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อมีคนการันตีว่าเป็นศิษย์สถาบันนั้นจริงๆ เช่น มีรุ่นพี่ มีเพื่อนหรือคนรู้จักพามาและรับรองว่า คนที่พามาเรียนอยู่สถาบันนั้นๆ จริงหรือเป็นศิษย์เก่า ต่างจาก wevo ที่เปิดรับอาสาสมัคร
นอกจากนั้น ทางกลุ่มอาชีวะเคยประกาศไม่รับเงินสนับสนุนใดๆ มาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อถึงเวลาที่มีการชุมนุมก็ผู้บริจาคให้อยู่เสมอ ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ เมื่อได้มาก็จะเฉลี่ยเท่าๆ กัน เพื่อเป็นค่าเดินทางของแต่ละคน
เก่ง อาชีวะ หนึ่งในแกนนำการ์ดภาคีเพื่อประชาชน
แกนหลักคุย “ไลน์” หน้างานคุย “ว.”
“เก่ง อาชีวะ” เล่าให้ฟังว่า แกนนำหลักๆ มีอยู่ประมาณ 40 คน โดยจะสื่อสารกันผ่านกลุ่มไลน์เพื่อพูดคุยหารือและตัดสินใจดำเนินการบางสิ่งบางอย่าง เมื่อได้ข้อสรุปจะสื่อสารกับการ์ดส่วนที่เหลือผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊ค ซึ่งมีคนที่เป็นร่วมอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะที่ การสื่อสารกันภายในพื้นที่ชุมนุมจะมีวิทยุสื่อสารสำหรับแกนนำคนสำคัญๆ รวมถึงการ์ดในแต่ละส่วน ที่อาจจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย 5-10 คน ต่อวิทยุสื่อสาร1เครื่อง
กฎของการ์ด
ผู้ประสานงานกลุ่มอาชีวะ เปิดเผยว่า กฎของการ์ดอาชีวะที่ยึดมั่น คือ ต้องไม่ทำเจตนารมย์ของผู้ชุมนุมเสียไป จะใช้ความอ่อนโยน ลดความขัดแย้ง ลดความกระด่าง รวมถึงดำเนินการด้วยความสันติ ไม่สร้างความรุนแรง เรื่องเหล่านี้จะมีการคุยกันก่อนการชุมนุมทุกครั้ง จะมีการแบ่งข้อมูล แบ่งงานกันตามความถนัด ที่สำคัญ “การ์ดแนวหน้าต้องคุมตัวเองให้อยู่”
ส่วนภารกิจสำคัญของการ์ดคือ ทำให้มวลชนเกิดความปลอดภัย และมั่นใจในการชุมนุม “เก่งอาชีวะ” เล่าว่า สิ่งที่ภูมิใจคือ เวลายุติการชุมนุมโดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น
ดูแลด้วยระบบโซตัส
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มอาชีวะเกิดขึ้นมามาโดยตลอด ข้อได้เปรียบหนึ่งที่ทำให้คนกลุ่มนี้จูนกันได้ อาจเป็นเพราะความคิดความอ่าน ความสนใจและชื่นชอบอะไรใกล้เคียงกัน จึงทำให้จับมือกันได้ ดังที่จะได้ยินว่า บางสถาบันที่เคยขัดแย้งกัน มาวันนี้เมื่อเข้ามามีส่วนร่วมการชุมนุมกลับสามารถก้าวข้ามเรื่องดังกล่าวไปได้
อีกอย่างที่เป็นจุดแข็งของ “กลุ่มอาชีวะ” คือระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือระบบโซตัส ซึ่ง “เก่ง อาชีวะ” ระบุว่า การดูแลการ์ดอาชีวะในการชุมนุมก็ใช้ระบบนี้เข้ามาดูแลกัน คือ รุ่นน้องเคารพรุ่นพี่ รุ่นพี่ก็ดูแลรุ่นน้อง
กว่า 3 เดือนของการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนนักศึกษา ที่ขยายวงไปถึงผู้ใหญ่ แม้การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของพวกเขาจะยังไม่เห็นความหวังที่จะได้ครบทั้ง 3 ข้อ แต่การมารวมตัวกันทำกิจกรรมการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มการ์ดที่อยู่แนวหน้า ก็คือกระบวนการเรียนรู้ แนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ที่มีประวัติศาสตร์ในอดีตเป็นบทเรียน ให้พวกเขาก้าวอย่างระมัดระวัง