จีนดูด'นักวิทย์'ญี่ปุ่น-รัฐเร่งรับมือภาวะสมองไหล

จีนดูด'นักวิทย์'ญี่ปุ่น-รัฐเร่งรับมือภาวะสมองไหล

จีนดูด“นักวิทย์”ญี่ปุ่น-รัฐเร่งรับมือภาวะสมองไหล โดยในสายตานักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น จีนเป็นประเทศในอุดมคติที่นักวิทยาศาสตร์จากแดนอาทิตย์อุทัยอยากไปทำงานเพื่อทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่แข็งแกร่งขึ้น

จีน ไม่ได้เป็นประเทศที่ดูน่ากลัวเพราะความยิ่งใหญ่ในมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น ในมิติของวิชาการ จีนก็มีความก้าวหน้าไม่แพ้ชาติอื่น แถมกระเป๋าหนักพอที่จะจ่ายค่าตัวนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ตัดสินใจไปทำงานในจีนได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

ในสายตานักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น จีนเป็นประเทศในอุดมคติที่เหล่านักวิทยาศาสตร์จากแดนอาทิตย์อุทัยอยากไปทำงานวิจัยที่นั่่นเพื่อทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งปรับปรุงบรรยากาศด้านการวิจัยภายในประเทศให้ดีขึ้นกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดภาวะสมองไหล

กระแสที่เกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนและเชื่้อเชิญบรรดานักวิชาการระดับหัวกระทิจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานวิจัยในประเทศ ประกอบกับเหล่านักวิชาการญี่ปุ่นก็หาตำแหน่งงานตามมหาวิทยาลัยในประเทศและตามสถาบันต่างๆยากมาก นี่ยิ่งเป็นสิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งปรับปรุงบรรยากาศในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะในคนรุ่นหนุ่มสาว

“ผมอยากไปทำงานในญี่ปุ่นแต่ไม่มีตำแหน่งงานว่างเลย”โทรุ ทากาฮาตะ ซึ่งวิจัยสมองของไพรเมทที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงของจีน กล่าว

ทากาฮาตะ วัย 43 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาขั้นสูง (โซเกนได) เมื่อปี 2548 และเริ่มทำงานด้านการวิจัยที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ในสหรัฐ ปี 2551 โดยเริ่มหาตำแหน่งงานว่างในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2556แต่ก็ยังหาไม่ได้

จากนั้นก็เริ่มมองหาตำแหน่งว่างในต่างประเทศก่อนจะมาได้ตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงในปี 2557 โดยบรรยากาศการทำงานด้านวิจัยที่จีนถือว่าดีมากในสายตาทากาฮาตะ โดยที่จีนเขาได้บริหารห้องแล็ปของตัวเองที่อยู่ภายในตึกของสถาบันที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้ เข้ายังได้รับเงินค่าเหนื่อยเพิ่มเป็นเงิน 50 ล้านเยน (478,652 ดอลลาร์)เป็นเวลา5ปีของการทำงานวิจัยโดยไม่มีกฏข้อบังคับใดๆ

ทากาฮาตะ บอกว่า “แม้ความสำเร็จในงานวิจัยจะเป็นเรื่องยาก แต่เงินค่าตอบแทนสำหรับการวิจัยที่ประสบความสำเร็จก็สูงกว่าในญี่ปุ่นหลายเท่า”นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้จีน มีความน่าดึงดูดใจในการดึงดูดบรดานักวิชาการชาวญี่ปุ่น รวมถึงนักวิชาการจากทั่วโลก

แต่ไม่ได้มีแค่นักวิชาการอย่างทากาฮาตะคนเดียวที่มีความรู้สึกแบบนี้ โทชิตากะ คาจิโนะ วัย 64 ปี เป็นอาจารย์สอนที่หอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น หรือ National Astronomical Observatory of Japan ในเดือนต.ค. ปี2559 และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์วิจัยที่ชื่อ International Research Center for Big-Bang Cosmology and Element Genesis at the Beijing University of Aeronautics and Astronautics โดยคาจิโนะ ได้รับการเชื้อเชิญจากรัฐบาลจีน พร้อมเสนอค่าเหนื่อยต่อปีสูงกว่านักวิชาการคนอื่นๆที่ทำงานในจีน
ขณะเดียวกันก็ยังคงตำแหน่งของเขาในญี่ปุ่นไว้ อาจารย์คาจิโนะจึงทำงานวิจัยในจีนประมาณครึ่งหนึ่งของงานวิจัยทั้งหมด

“การสอนนักเรียนในจีนเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากเพราะพวกเขามีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้”อาจารย์คาจิโนะ กล่าว

กระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า ขณะนี้มีนักวิชาการญี่ปุ่นเข้าไปทำงานในจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับจนถึงเดือนต.ค.ปี 2560 มีจำนวน 8,000 คน ขณะที่กระทรวงเทคโนโลยี วิยาศาสตร์ กีฬา วัฒนธรรมและการศึกษาของญี่ปุ่น ระบุว่า จำนวนนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในจีนในเวลาไม่ถึง1เดือนในปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 18,460 คน เพิ่มขึ้นประมาณ 25% จากปีงบประมาณ 2557 และเพิ่มขึ้นสี่ปีติดต่อกัน

เมื่อพิจารณารายประเทศ จีนเป็นประเทศจุดหมายปลายทางอันดับสองของบรรดานักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่นิยมเข้ามาทำงานวิจัย โดยอันดับหนึ่งคือสหรัฐ และอันดับสามคือเกาหลีใต้แต่กระแสนักวิชาการชาวญี่ปุ่นนิยมไปทำวิจัยในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนสื่อญี่ปุ่นนำไปรายงานข่าวใช้พาดหัวว่าจีนกำลัง“จัดทำแผนล่านักวิชาการผู้มากความสามารถนับพันคน”ซึ่งภายใต้แผนนี้ เป็นการรับสมัครผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศทั้งในสาขาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และสาขาเทคโนโลยี

สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย ให้ข้อมูลที่ช่วยตอกย้ำว่าจีนเอาจริงเอาจังในการระดมบุคลากรที่มีความสามารถจริงๆ โดยบอกว่าจีนมีสำนักงานรับสมัครงานที่รับสมัครเฉพาะบุคลากรจากต่างประเทศที่มีความรู้ความสามารถจำนวนกว่า 600 แห่งทั่วโลก รวมทั้งในญี่ปุ่น 46 แห่ง

“มีหลายกรณีที่นักวิชาการจากต่างประเทศได้รับเชิญให้ไปทำงานที่มหาวิทยาลัยในจีนหลังจากมหาวิทยาลัยของจีนและมหาวิทยาลัยของประเทศนั้นๆมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน”มิโฮะ ฟูนาโมริ ศาสตราจารย์จากสถาบันสารสนเทศน์ศาสตร์แห่งชาติ กล่าว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากระบุตรงกันว่า การที่นักวิชาการญี่ปุ่นนิยมไปทำงานค้นคว้าวิจัยในจีนแม้ว่ารู้ทั้งรู้ว่ามีความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะรั่วไหลออกไปจากญี่ปุ่นก็เพราะบรรยากาศการทำงานในญี่ปุ่นย่ำแย่

“นักวิชาการที่มีความสามารถจำนวนมากต้องดิ้นรนหางาน หรือแม้แต่หาเงินทุนมาทำวิจัยในญี่ปุ่น ซึ่งหายากมาก ส่วนในจีนสิ่งเหล่านี้หาได้ง่ายกว่า”ไอสุเกะ อีโนกิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางานของจีน ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น กล่าว

ปัจจุบัน จีนจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในปีงบประมาณ 2561 ไว้ที่ 28 ล้านล้านเยน เทียบกับญี่ปุ่นที่จัดสรรงบประมาณส่วนนี้ไว้ที่ 3.8 ล้านล้านเยน ขณะที่นักวิชาการที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี มีสัดส่วน 23.4% ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดของญี่ปุ่น ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์