Read, Live, and Learn เรียนรู้ในทุกช่วงชีวิต
รู้หรือไม่ว่าคนไทย “ไม่ได้อ่านหนังสือเพียงปีละแค่ 8 บรรทัด” อย่างที่ครั้งหนึ่งเคยมีคนกล่าวอ้างกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับTK Park พบว่าคนไทยอ่านหนังสือจาก “สื่อต่างๆ” อย่างหนังสือเล่ม อีบุ๊ก เว็บไซต์รวมกันแล้ว 80 นาทีต่อวัน
พลิกวิกฤติสู่การอ่านออนไลน์
หลังจากโรคโควิด-19 ระบาดหนัก สร้างความกังวลใจผู้คนจำนวนมากว่าอาจติดเชื้อร้ายหากสัมผัสสิ่งต่างๆ และไม่เว้นระยะห่างทางสังคมต่อกัน ส่งผลให้หลายสถานที่จำเป็นต้องปิดบริการชั่วคราว พื้นที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่เซ็นทรัลเวิลด์เองก็อยู่ในจังหวะที่กำลังปิดปรับปรุง และเปิดพื้นที่บริการชั่วคราว ส่งผลให้ห้องสมุดออนไลน์ของอุทยานการเรียนรู้ TK Park ที่ให้บริการสื่อดิจิทัลด้านการอ่านการเรียนรู้ได้รับความนิยมขึ้นมาเพื่อให้บริการยืมหนังสือได้ทุกที่ ทุกเวลา ให้ผู้อ่านเข้าถึงหนังสือได้กว่า 20,000 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดยไม่เสียงค่าใช้จ่าย
ผลปรากฏว่าในช่วงดังกล่าวมียอดผู้ยืมสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่า และถึงแม้การแพร่ระบาดภายในประเทศจะลดน้อยลง แต่ยอดการยืมและใช้บริการห้องสมุดออนไลน์ไม่ได้ลดลงเลย แสดงให้เห็นว่าผู้คนเริ่มปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ และคุ้นชินกับการอ่านออนไลน์เรียบร้อยแล้ว
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park หรือ ผอ.ต้อง เผยถึงประเด็นที่น่าสนใจจากการอ่านว่ามีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ และมีปัจจัยแทรกซ้อนอย่างโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว
ประโยชน์ของการหลีกหนีความจริงสู่โลกนิยาย
หากจัดประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะพบว่าหนังสือยืมมากที่สุดอันดับ 1 คือ แนวนวนิยาย ผลดังกล่าวสามารถตีความได้ว่าในชีวิตประจำวันมีแต่ความตึงเครียด ผู้คนจึงต้องการพาตัวเองเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการเพื่อเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง
แต่การอ่านนิยายไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว ผอ.ต้อง มองว่า การอ่านนิยายจะช่วยกระตุ้นให้ผู้อ่านมีจินตนาการได้ดียิ่งขึ้น การนึกเรื่องราว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือออกมาให้เห็นเป็นภาพนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์ และการอ่านนิยายทำให้เราต้องจดจ่ออยู่กับเรื่องราวในหนังสือทำให้เกิดสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้การทำงานหรือการเรียนทำได้ดี
นอกจากนี้การอ่านนิยายยังช่วยเพิ่มทักษะการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือ Empathy ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะคนอ่านจะรับรู้ถึงภูมิหลังของตัวละครแต่ละตัว เกิดเป็นความเข้าใจว่าเพราะเหตุใด ตัวละครแต่ละตัวถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น ผลการศึกษายังพบอีกว่า คนที่อ่านนิยายประจำจะสามารถปรับตัวเข้าสังคม ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นกว่าคนที่ไม่อ่านด้วย
ถึงเวลาเรียนรู้ด้วยตัวเอง
หนังสือแนวพัฒนาตัวเองได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ผอ.ต้อง วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะโรคโควิด-19 เข้ามากระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายวงการ และมีคนตกงานจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้คนอยู่เฉยไม่ได้ จำเป็นต้องตื่นตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อรับมือกับโลกในอนาคตที่ทักษะบางประการจะหายไป และทักษะอื่น ๆ จะทวีความสำคัญขึ้นมาแทน
เขายังอธิบายเสริมถึงความแตกต่างของคำว่า Study และ Learn ว่าถึงจะแปลว่า “เรียน” ได้ทั้งคู่แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว การเรียนแบบ Study อาจหมายถึงการเรียนในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม ไปจนถึงมหาวิทยาลัยส่วน Learn เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้เองโดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบ ผู้คนสามารถเรียนรู้ผ่านสิ่งต่าง ๆ ทั้งจากการอ่านหนังสือ จากอินเทอร์เน็ต หรือเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติก็ทำได้เช่นกัน
ระบบนิเวศการเรียนรู้ช่วยเสริมพลังปัญญา
เคยมีคำกล่าวไว้ว่า “ยิ่งอ่านเยอะก็ยิ่งเรียนรู้เยอะ” แต่อาจต้องเสริมด้วยว่า ถ้าอ่านเยอะโดยไม่มีความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว หรือที่เรียกว่าระบบนิเวศการเรียนรู้ (Learning Ecosystem) ที่ดี ก็อาจทำให้ตกหล่นใจความสำคัญของสิ่งที่อ่าน และนำไปใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ ผอ.ต้อง จึงใช้โอกาสนี้เผยเคล็ดลับง่ายๆ ที่สามารถสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ได้อย่างดี
เคล็ดลับประการแรก ตั้งเป้าหมายก่อนว่าเวลาอ่านหรือเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไปเพื่ออะไร ทุกคนมีเป้าหมายต่างกัน บางคนต้องการความรู้ใหม่ๆ ไปพัฒนางานที่ทำอยู่ บางคนอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนเส้นทางอาชีพ หรือบางคนเรียนเพื่อเข้าสังคม เพื่อพูดคุยกับผู้อื่นรู้เรื่องเพียงแค่นั้นก็มี แต่เหนืออื่นใดถ้าไม่ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนแต่แรก จะทำให้ไม่สนุกกับการเรียนอย่างที่ควรจะ และขาดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ไปจนจบ
ต่อมาคือการตามรอยไอดอลของตัวเอง หากชื่นชอบงานเขียนของใครสักคน นอกจากอ่านงานของเขาแล้ว ลองดูด้วยว่าเขาชื่นชมและอ้างอิงผลงานของใครบ้างแล้วตามไปอ่านเพิ่มเติม วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้เข้าใจกระบวนการคิดของนักเขียนได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยเปิดโลกทัศน์ นำไปสู่การเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยสนใจมาก่อนด้วย
ความคิดที่ดีมาจากระบบการคิดที่ดี
อ่านแล้ว เรียนรู้แล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการอ่านเยอะ เรียนรู้มาเยอะ ลงมือทำเยอะ และผิดพลาดมาเยอะ การร่วมแชร์ไอเดียในประเด็นต่าง ๆ กับผู้อื่นถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เกิดกระบวนการคิดและเรียนรู้ได้มากกว่าการคิดตัวเดียว และช่วยให้รู้วิธีทำงานกับคนอื่นด้วย รู้มารยาทว่าอะไรควรจบในห้องประชุม รู้ว่าอะไรไม่ควรนำออกไปเผยแพร่ข้างนอกวงสนทนา
นอกจากนี้ความคิดดี ๆ สามารถมาจากคนได้ทุกเพศทุกวัย แต่ในบางสถานการณ์อาจจำเป็นต้องใช้ไอเดียจากคนที่บางกลุ่มเท่านั้น เพราะมีความสำคัญและมีประโยชน์มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น หากต้องการทำบริการเพื่อกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น การเอาผู้ใหญ่มาช่วยกันออกไอเดียเพียงฝ่ายเดียวย่อมไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
อย่าหยุดเรียนรู้
ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น เป็นเครื่องทุ่นแรงชั้นดีช่วยให้ผู้คนเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายกว่าในอดีต เมื่อมีเครื่องทุ่นแรงเยอะก็มาพร้อมวิธีการมากมายเพื่อให้เรียนรู้ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ต้องตระหนักด้วยว่าวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับคนอื่น อาจไม่เหมาะสมกับตัวเราเอง บางคนอาจสนุกกับการอ่าน บางคนสนุกกับการลงมือทำ ลองหาวิธีที่ใช่สำหรับตัวเองให้เจอ แต่หากยังไม่เจอก็อย่าเพิ่งย่อท้อและล้มเลิกการเรียนรู้ เพราะดังที่กล่าวไว้ว่าความผิดพลาดก็ถือเป็นการเรียนรู้ประเภทหนึ่งได้เหมือนกัน
แต่เหนืออื่นใด อย่าลืมเป้าหมายของการเรียนรู้ว่าเรียนเพื่ออะไร อย่าหยุดเรียนรู้ อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง ซึ่งสถาบันอุทยานการเรียนรู้พร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และสร้างปัญญาให้ประชาชน เพื่อก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้