เกิดอะไรขึ้นกับ 'ประเทศท่องเที่ยว'?
ทำไม "กรุงเทพฯ" และประเทศไทย ที่เป็นเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถึงเป็นประเทศที่อ่อนด้อยในการใช้ภาษาอังกฤษ และส่งผลอย่างไรบ้าง?
ถ้าบอกว่าประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนมากเป็นอันดับแรกๆ ของโลก คงไม่น่าแปลกใจอะไร แต่ถ้าบอกว่าประเทศไทยที่เป็นประเทศท่องเที่ยวชั้นนำของโลก มีผู้คนที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับซีเรียและซูดาน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวห่างไกลกว่าบ้านเรามากมายนัก และน่าจะแปลกใจมากขึ้นไปอีก ถ้ามีคนมาบอกว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่ามหานครลอนดอน มีผู้คนที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอๆ กับแบกแดด
ถ้าจะบอกว่าประเมินผิดพลาด คงเถียงยากหน่อยว่าเพราะเป็นองค์กรที่มีอายุยาวนานกว่า 55 ปี และทำงานอยู่ในกว่า 110 ประเทศทั่วโลก ดังนั้น คงต้องหันมาช่วยกันคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก แต่กลับกลายเป็นประเทศที่อ่อนด้อยในการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นภาษาโลกและยังเป็นภาษาทางการของอาเซียนที่บ้านเราเป็นสมาชิกสำคัญอยู่ด้วย ถ้าบอกต่อไปว่าเราแย่อย่างนี้มาตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่ตอนนั้นบ้านอื่นเขาก็แย่ด้วย เราเลยอยู่ประมาณ 40 กว่าๆ ของโลก แต่ 5-6 ปีที่ผ่านมาคนอื่นเขาดีขึ้นจนทำให้เราหล่นไปอยู่ที่ 89
มาดูกันสักนิดว่าผู้ประเมินเขาบอกว่าผู้คนของเราทำอะไรได้บ้างกับภาษาอังกฤษ เขาบอกว่าเราแนะนำตัวเองพอได้ เราอ่านป้ายภาษาอังกฤษที่มีข้อความไม่ซับซ้อนได้ เราพอจะบอกทางในภาษาอังกฤษได้ในเบื้องต้น คือบอกว่าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ แต่เขาบอกว่าพวกเราโดยเฉลี่ยเข้าประชุมกับคนที่พูดภาษาอังกฤษแล้วจะเสียเปรียบมาก เพราะถกเถียงต่อรองกับเขาไม่ได้
เขาบอกว่าเรานำเสนอเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ผล คือคนอื่นจะติดตามเราไม่รู้เรื่อง เขาบอกว่าเราดูหนังที่พูดภาษาอังกฤษแล้วจะไม่ค่อยรู้เรื่อง ต้องดูที่มีพากย์ไทย ซึ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นความสามารถที่คนในบ้านเมืองที่เป็นเมืองท่องเที่ยวส่วนใหญ่สามารถกระทำได้
ถ้าจะบอกว่าบ้านฉันไม่ต้องใส่ใจภาษาของบ้านอื่น คงต้องบอกว่าการวิจัยของผู้ประเมินพบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ กับความเจริญก้าวหน้าทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ เช่นมีความสัมพันธ์กับความยุติธรรมและความโปร่งใสของสังคม คือถ้ายิ่งเป็นสังคมที่ปกปิดและอยุติธรรม ความสามารถในการใช้ภาษาโลกจะยิ่งลดลง แปลว่าถ้าเรามีคะแนนเรื่องนี้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าเราปกปิดอะไรต่ออะไรมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในขณะที่คนอื่นมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งน่าจะพอเข้าใจได้ว่าอยากปิดหูปิดตา เลยไม่สร้างเสริมความสามารถในการสื่อสารกับผู้คนในโลก สื่อสารได้มากๆ เดี๋ยวปิดตาไม่มิด
ในทางเศรษฐกิจ เขาพบว่าความสามารถในด้านภาษาอังกฤษผูกพันอยู่กับรายได้ประชาชาติต่อหัว คือยิ่งเก่งภาษาอังกฤษ รายได้ต่อคนยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งเดาว่าคงเป็นเพราะเจรจาค้าขายกับคนอื่นได้เก่งขึ้น เขาบอกต่อไปว่าผลิตภาพของบุคลากรเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการเพิ่มขึ้นของความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเดาว่าเป็นผลมาจากการสืบค้นความรู้ต่างๆ ในภาษาอังกฤษได้เอง ไม่ต้องรอให้ใครต่อใครมาแปลให้อ่าน ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ เกี่ยวพันกับความโปร่งใส ความยุติธรรมของสังคม เกี่ยวพันกับผลิตภาพและรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจะเลยกันคงไม่ได้
เรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ต้องเน้นว่าไม่ใช่แค่เรื่องของการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน แต่หมายรวมถึงความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนทุกวัย โดยเฉพาะคนในวัยทำงาน จึงไม่ใช่แค่ไปโทษเด็กว่าไม่ตั้งอกตั้งใจเรียน เลยทำให้ผลการประเมินภาษาย่ำแย่ลง ครั้นจะไปหวังพึ่งรัฐ คงหวังอะไรไม่ได้มากนัก เพราะหาใครในภาครัฐที่ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังไม่ได้ เพราะแต่ละท่านหมดเวลาไปกับเรื่องอื่นกันหมด
คำแนะนำที่งานวิจัยนี้เสนอไว้น่าจะพอช่วยได้บ้าง เขาบอกว่าที่สะดวกที่สุดคือให้ใช้ทรัพยากรในอินเทอร์เน็ตมาเติมความสามารถภาษาอังกฤษ ทุกวันนี้มีบทเรียนสำหรับฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษอยู่มากมาย เขาเสนอว่าองค์กรต้องจัดเวลา จัดทรัพยากรให้บุคลากรได้ฝึกฝน โดยตั้งเป้าหมายความสามารถที่เหมาะสมกับหน้าที่การงานของแต่ละคน และที่สำคัญที่สุดคือผู้นำต้องกระทำเป็นตัวอย่าง อย่า “ว่าแต่เขา อิเหนาแย่เอง”