ผู้ประกอบการโวย รัฐประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้ประกอบการโวย รัฐประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์

ผู้ประกอบการโวย รัฐประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ไร้ความชัดเจน แถมฝืนกระแสโลก

กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประสานเสียงโวยลั่น หลังกรมควบคุมโรคประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ เตรียมบังคับใช้ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ชี้ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดการปฏิบัติตั้งแต่คำว่าการขายทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยันไม่แก้ปัญหาเยาวชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเป็นกฎหมายที่มีความล้าหลัง ตามไม่ทันยุคสมัย นอกจากนั้นการขายออนไลน์ยังช่วยลดปัญหาเมาแล้วขับและป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมเสนอให้ชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีการกำหนดแนวทางรายละเอียดการปฏิบัติให้ชัดเจน

ภายหลังจากที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า และผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทราบเจตนารมณ์ของกฎหมาย พร้อมทั้งให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตาม โดยมีการระบุในประกาศดังกล่าวเพียง 3 ข้อโดยไม่มีรายละเอียดแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ต่างแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวอย่างเข้มข้น


นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ ตัวแทนจากสมาคมคราฟท์เบียร์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า “กฎหมายที่ออกมานี้ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ เป็นเวลายาวนานกว่าจะมีการบังคับใช้ ในขณะที่การซื้อขายออนไลน์เป็นสิ่งที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นจึงมีคำถามจำนวนมากในการประชุมชี้แจงซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในการปฏิบัติ และในเรื่องที่บอกว่าการขายออนไลน์ทำให้เด็กเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว เด็กที่เขาจะดื่มเขาดื่มเลย ไม่มานั่งรอสั่งซึ่งต้องมีการจัดเตรียมไม่ได้ส่งได้ทันที และวิธีการควบคุมไม่ให้เด็กเข้าถึงก็มีมากมาย เช่น จะต้องมีการ log in เข้ามา ต้องมีเอกสารยืนยัน เช็คเบอร์โทร ซึ่งเป็นเรื่องดิจิทัลไอดีซึ่งส่วนใหญ่พัฒนาไปกันหมดแล้ว แต่กฎหมายที่ออกมากลับตามไม่ทัน”


“ในเรื่องความชัดเจนของคำนิยามว่า อิเล็กทรอนิกส์ในที่นี้คืออะไร ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ อย่างที่สองคือเรื่องผู้บริโภคโดยตรงอันนี้เขาก็ตอบชัดเจนว่าผู้บริโภคโดยตรงคืออะไร แต่ก็ยังมีความคลุมเครืออยู่ ว่าถ้าเกิดว่าเป็นบุคคลธรรมดามีใบอนุญาตขายสุราทำได้ไหม เขาจะไปเลี่ยงตอบว่าถ้าซื้อไปขายก็ไม่เป็นไร กฎหมายออกมามันเขียนไว้ว่าห้ามซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็มีคนถามว่าจ่ายเงินทาง payment ในอิเล็กทรอนิกส์ผิดไหม ความที่กฎหมายไม่ได้ระบุชัดเจน มันทำให้เกิดความสับสน จึงอยากจะขอให้มีการทำ Guideline ออกมาว่าคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ จะครอบคลุมถึงอะไรบ้าง เช่น LINE Facebook ฯลฯ ซึ่งมันระบุได้ จะได้รู้ว่าอะไรที่ห้ามไปเลย อย่างวันนี้ที่นักวิชาการมาตอบ บอกว่ายังมีที่ต่างประเทศก็เอาผิดไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ จริง ๆ ก็คือ Facebook ก็ผิด อันนี้ถึงได้บอกว่าเป็นเรื่องของกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตีความ”


“นอกจากนี้ ในด้านหนึ่งการขายทางอิเล็กทรอนิกส์มีส่วนช่วยลดในเรื่องของอุบัติภัยจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยซ้ำ เพราะการขายออนไลน์มันจะลดการเมาแล้วขับ เนื่องจากผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเดินทางขับขี่ยานพาหนะเพื่อออกไปหาซื้อ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งบางครั้งต้องมีการเดินทางไปเป็นระยะทางไกล ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ต้องการสนับสนุนในเรื่องนี้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างมากในสภาวการณ์ปัจจุบันก็คือ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์มีส่วนช่วยในการป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเราจำเป็นต้องระมัดระวังป้องกันอย่างเต็มที่อยู่เสมอ เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังอยู่ในระดับที่สูงทั่วโลก ” นายอาชิระวัสส์ กล่าว


นายธนากร คุปตจิตต์ ตัวแทนจากสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวถึงเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายนี้ซึ่งระบุไว้ว่า การขายทางอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด แต่กลับปรากฏว่าในประกาศไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวแม้แต่น้อย ไม่มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในเรื่องของวัน เวลา สถานที่ และบุคคล จึงอยากให้มีการทบทวน แก้ไขก่อนที่จะมีการบังคับใช้ เพื่อให้ทั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และผู้ประกอบการทุกส่วนที่เกี่ยวข้องปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง