อนาคต 'เมืองปลอดภัย 4.0'
หากมองภาพอนาคต ประเทศไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า "เมืองปลอดภัย" ลักษณะอย่างไรที่อยากเห็น? และเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จะสามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายสร้างเมืองปลอดภัยได้อย่างไรบ้าง?
ในอนาคต แนวโน้มหนึ่งที่สำคัญคือความเป็นเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น (urbanization) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและไทย ประชากรส่วนใหญ่ของไทยจะกระจุกตัวอาศัยอยู่ในเมืองมากกว่าอาศัยในชนบท เราจึงเห็นวาระเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเมืองในมิติต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่การระบาดของโรคในเมืองได้สะท้อนความเปราะบางของเมืองออกมาชัดเจนมาก
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา ตั้งวงนโยบายเพื่อมองภาพอนาคตเมืองปลอดภัยของประเทศไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า เพราะทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า นโยบายเมืองปลอดภัย (Safe City) เป็นเรื่องสำคัญต่อการดูแลรักษาชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนาคต
ภายใต้แนวโน้มและความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ประชากร เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัจจัยด้านความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในเมือง ส่งผลให้เมืองในมิติด้านความปลอดภัย อาจเกิดขึ้นได้ในหลากหลายฉากทัศน์
กรณีที่เลวร้ายที่สุด เมืองอาจจะกลายเป็นดงโจร (Crime City Scenario) ในฉากทัศน์อนาคตนี้สอดคล้องกับแนวโน้มความเสี่ยงที่กระทบความปลอดภัยของเมืองสูงขึ้นในหลายด้าน ทั้งด้านอาชญากรรมที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การก่อการร้าย มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM 2.5 ความไม่มั่นคงทางไซเบอร์ อุบัติเหตุการจราจรและการแพร่กระจายของโรคระบาดใหม่ๆ
ความเสี่ยงเกิดขึ้นสูง แต่ขีดความสามารถในการจัดการของเมืองต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากความขาดแคลนทรัพยากร เจ้าหน้าที่ตามไม่ทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ จนทำให้เมืองขาดความปลอดภัย เมืองจะกลายเป็นสถานที่อันตราย เกิดอาชญากรรมในโซนต่างๆ และธุรกิจผิดกฎหมาย เมืองอาจเกิดการระบาดของโรคอย่างควบคุมไม่ได้ จนถึงขนาดต้องปิดเมืองระยะยาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงาน ส่งผลต่ออาชญากรรม เกิดม็อบที่อาจนำไปสู่จลาจล
ความปลอดภัยในเมืองแบบนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะกับคนมีฐานะ เพราะคนมีฐานะได้ลงทุนซื้อความปลอดภัยให้กับตนเอง แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับไม่ปลอดภัย จึงขาดความเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐ
ในขณะที่ฉากทัศน์เมืองอีกแบบที่สะท้อนความเสี่ยงที่ไม่สูงนัก แต่ขีดความสามารถของเมืองในการจัดการต่ำ เรียกฉากทัศน์นี้ว่าเมืองที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe City Scenario) โดยเกิดอุบัติเหตุความไม่ปลอดภัยในรูปแบบเดิมๆ เช่น อุบัติเหตุคนตกท่อ เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ที่ยังมีคนตกท่อปีละ 750 คน
ในฉากทัศน์นี้ เมืองจะเกิดความไม่ปลอดภัยแบบที่เคยเกิดขึ้น อุบัติเหตุมาก ถนนขรุขระ คนพิการเดินทางลำบาก เกิดปัญหาซ้ำซากไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 น้ำท่วมขัง หรือในด้านอาชญากรรม ก็จะพบกับการที่ประชาชนถูกโกงและถูกหลอกลวง เช่น การตกทอง แชร์ลูกโซ่ หรือในรูปแบบใหม่ๆ อย่างโรแมนซ์สแกม
ในฉากทัศน์นี้ รัฐแก้ปัญหาได้ช้า ประชาชนก็มีส่วนร่วมน้อย หวังพึ่งพาตำรวจสูง การขาดความร่วมมือจากประชาชนทำให้การป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ผลที่ดี ทำให้เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่จนผู้คนอพยพออกจากเมืองไปอยู่ที่อื่น
อย่างไรก็ตาม เมืองสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการความเสี่ยงได้ จนสามารถเกิดฉากทัศน์ที่อาจเรียกว่าฉากทัศน์เมืองแบบเอไอซิตี้ (AI City Scenario) ภายใต้ฉากทัศน์นี้ เมืองก็ยังมีแนวโน้มจะเกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เช่น การใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อส่งยาบ้า มีการปลูกพืชเสพติดกลางคอนโดกลางกรุง มีอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมทางไซเบอร์ การทำธุรกิจผิดกฎหมายใช้การชำระเงินผ่านเงินสกุลคริปโต
แต่แม้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่น ใช้การประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) การพยากรณ์พื้นที่ความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยในเมืองเพื่อทุ่มทรัพยากรตรวจตราเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ภาครัฐร่วมกับประชาชนสร้างนวัตกรรมเพื่อรักษาความปลอดภัยในเมือง เช่น การเกิดขึ้นของตำรวจบ้านที่ใกล้ชิดประชาชนในเมือง เหมือนเช่นกรณีญี่ปุ่น มีการติดตั้งกล้อง CCTV ที่ใช้ระบบ AI เพื่อตรวจจับความไม่ปลอดภัยในเมือง เหมือนเช่นกรณีเกาหลีใต้ เกิดอาสาสมัครตำรวจช่วยงานในชุมชน ผู้นำชุมชนและประชาชนช่วยกันจัดการเพื่อสร้างความปลอดภัยในแต่ละชุมชน นอกจากนี้ เมืองยังเริ่มใช้ระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้นำที่ตอบโจทย์ประชาชน สามารถแก้ปัญหาซ้ำซากในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ บางเมืองอาจเป็นเมืองขนาดเล็กที่ความเสี่ยงไม่สูง จึงอาจไม่ได้ใช้นวัตกรรมในการจัดการแบบไฮเทคมากนัก แต่เน้นการมีส่วนร่วมกับประชาชน อาจเรียกฉากทัศน์นี้ว่าเมืองชิลบุรี (Chill City Scenario) ภายใต้ฉากทัศน์นี้ เมืองรองไม่แออัดเหมือนเมืองใหญ่ อุบัติเหตุจึงน้อย ฝุ่นพิษน้อย ประชาชนปลอดภัย กลไกสำคัญในการสร้างเมืองที่ปลอดภัยคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาทำให้คนไม่กล้าก่ออาชญากรรม เมืองแบบนี้ไม่ได้ไฮเทคมาก แต่จัดการเรื่องต่างๆ ได้ดี ช่วยกันรักษาโครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้าสว่าง มีกล้อง CCTV ที่ใช้การได้ ตำรวจมีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับจากประชาชน
จากทั้ง 4 ฉากทัศน์เมืองในอนาคต เราจะเลือกอยู่เมืองแบบไหน ปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เราจะร่วมกันสร้างให้เมืองเป็นอย่างไรในอนาคต คงไม่ใช่เรื่องที่ต้องพึ่งพาเฉพาะภาครัฐ เพราะเมืองจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน