ส.อ.ท.เผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดันดัชนีอุตฯพุ่งต่อเนื่อง
ส.อ.ท. เผย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ดันดัชนีความเชื่อมั่นอุตฯ พุ่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
เอกชนชงรัฐยืดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถึงปี 64 พร้อมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ดูแลค่าเงินบาท
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ระดับ 87.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.0 ในเดือนตุลาคม 2563 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อ ยอดขาย และปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สำหรับตลาดในประเทศได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ช็อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเงินช่วยเหลือเกษตรกร ส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนและ การใช้จ่ายในประเทศ
รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการลงทุนต่างๆ ยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดต่างประเทศ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สินค้าที่เกี่ยวกับการแพทย์และการป้องกันโรค และคำสั่งซื้อล่วงหน้าในกลุ่มสินค้าที่ใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนังฯ สินค้าเซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคการผลิตยังเร่งผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบก่อนช่วงเดือนธันวาคมที่มีวันหยุดในช่วงเทศกาล
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศและในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากการลักลอบเข้าเมือง รวมถึงการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกและรายได้จากการส่งออกลดลง นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกประสบปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าทำให้มีภาระต้องจ่ายอัตราค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,258 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 70.5, อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 46.1, ราคาน้ำมัน ร้อยละ 41.0, และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 40.5 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ร้อยละ 55.0
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 94.1 จากระดับ 91.9 ในเดือนตุลาคม 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในเดือนพ.ย.นี้ ได้แก่ 1.ขอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 และเร่งเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2. ขอให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันได้
3. เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนส่งเสริมการนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาในประเทศไทย โดยการปรับลดอัตราค่าภาระขนถ่ายและค่าภาระหน้าท่าสำหรับการนำเข้าตู้เปล่า เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามา ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจให้สายการเดินเรือนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาเก็บไว้ในประเทศไทยมากขึ้น และยังจะช่วยสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจการบริการซ่อมแซมบำรุงรักษาตู้คอนเทนเนอร์ในประเทศไทยด้วย และ4. ขอให้ภาครัฐรักษามาตรฐานการควบคุมโรคโควิด-19 หลังจากมีการผ่อนปรนมาตรการควบคุม การเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน