เปิดขั้นตอนบริจาค 500 บาท 'วัคซีนโควิดเพื่อคนไทย' จำกัดสิทธิ 1 ล้านคน

เปิดขั้นตอนบริจาค 500 บาท 'วัคซีนโควิดเพื่อคนไทย' จำกัดสิทธิ 1 ล้านคน

เปิดขั้นตอนบริจาค 500 บาท "วัคซีนโควิดเพื่อคนไทย" จำกัดสิทธิ 1 ล้านคน หากกระบวนการทดสอบในคนมีผลสำเร็จ และสามารถนำมาใช้ได้จริง หนึ่งล้านคนแรกจะได้สิทธิจองซื้อวัคซีนก่อน

นับเป็นข่าวดีของคนไทยที่จะมีวัคซีนโควิด-19” จากฝีมือสตาร์ทอัพไทยในนามบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ของสองผู้ร่วมก่อตั้ง ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะจาก CU Innovation Hub จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคิดค้นแพลตฟอร์มการผลิตโปรตีนด้วยพืช และพัฒนาสู่วัคซีนโควิด-19

เมื่อวิกฤติโควิด-19 เป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ จึงเกิดการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ทั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด กับองค์การเภสัชกรรม และบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด ได้ตั้งเป็นทีมไทยแลนด์ ขึ้นมา ในการพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงมือคนไทย โดยได้เปิดโครงการวัคซีนเพื่อคนไทยให้คนไทยได้ร่วมบริจาคเงินคนละ 500 บาท จำนวน 1,000,000 คน ซึ่ง 1 คน จะได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น ซึ่งเร่ิมเปิดรับบริจาคตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เวลา 09.00 น. เพื่อนำไปผลิตวัคซีน

160827087226

  • ขั้นตอนการบริจาค 500 บาท เพื่อวัคซีนโควิด-19

1.สแกน QR CODE เพื่อลงทะเบียนและรับสิทธิในการบริจาคที่ www.CUEnterprise.co.th ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 เวลา 09.00 น.

2.สามารถเลือกช่องทางการบริจาคได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

    1) ใช้ Mobile Banking Application ของธนาคารใดก็ได้แสกน QR CODE เพื่อบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ เมื่อเสร็จสิ้นการทำรายการจะได้รับ Bill Payment เป็นหลักฐาน

    2) ทำรายการที่หน้าเคาเตอร์ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงยื่นบัตรประชาชนและแจ้งว่าบริจาคให้โครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” จะได้ Pay-in Slip เป็นหลักฐาน 

  • สิทธิพิเศษที่จะได้รับ

1.สิทธิส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยประเภทบุคคล เช่น สุขภาพ รถยนต์ อัคคีภัย ฯลฯ สำหรับกรมธรรม์ฉบับใหม่จากบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยส่วนลด 12-23%

2.ในกรณีผลิตวัคซีนสำเร็จและพร้อมให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ผู้บริจาคจะมีสิทธิจองซื้อวัคซีนได้ก่อนบุคคลทั่วไป แต่จะได้สิทธิ “หลังจาก” การให้ การจำหน่าย หรือการใช้วัคซีนให้แก่บุคคลอื่นใด ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือรัฐบาลกำหนด (หากมี)

อย่างไรก็ตาม โดยจำนวนเงินบริจาคทั้งหมด 500 ล้านบาท แบ่งเป็น 150 ล้านบาท นำไปปรับปรุงสร้างสถานที่ผลิต ตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น GMP Facility ที่ได้มาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด ตั้งเป้าว่าทำได้วัคซีนได้อย่างน้อย 1 ล้านโดสต่อเดือน และสูงสุด 5 ล้านโดสต่อเดือน อีก 350 ล้านบาท นำไปใช้ในการทดสอบวัคซียในคน เฟส 1-3

เนื่องจากขณะนี้ได้ผ่านการทดสอบในสัตว์แล้ว โดยการบริจาคครั้งนี้เพื่อเร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 จากใบพืชเพื่อทดสอบในมนุษย์ได้ทันภายในเดือนมิถุนายน 2564 และหากสำเร็จคาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ในสิ้นปี 2564 หรือต้นปี 2565