3 แม่ทัพ "จุตินันท์-สุระ-จรีพร" ผ่าเมกะเทรนด์ธุรกิจ หลังโควิด
แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างผลกระทบต่อประชากรโลก ศรษฐกิจ สังคม และภาคธุรกิจให้เกิดความเสียหายมหาศาล และเป็นปฏิกิริยาเร่งการเปลี่ยนแปลงหลายประการทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค ธุรกิจต้องปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากโลกก่อนไวรัสร้ายระบาด เป็นต้น
ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่กับโลกใบนี้ ทำให้การเกาะติด “เทรนด์” หรือแนวโน้มต่างๆเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจ เพราะยุคนี้ไม่ใช่แค่ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อรบร้อยครั้งจะคว้าชัยชนะ แต่การมองเหตุการณ์ในอนาคตให้แม่นยำ เฉียบขาด จะเอื้อให้การวางยุทธศาสตร์ กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจ “ตรงเป้า” ยิ่งขึ้น
ในงานสัมมนาประจำปี Forbes Thailand Forum หยิบหัวข้อ Forbes Thailand: Thailand's Mega Trends Forum 2020 มาถก โดยมี “ผู้นำ” องค์กรธุรกิจชั้นนำของเมืองไทยให้มุมมอง
เป็นแม่ทัพขับเคลื่อนองค์กรเก่าแก่ 88 ปี มีรายได้แสนล้านบาท และดูแลพนักงานร่วมหมื่นชีวิต จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ให้มุมมองเกี่ยวกับเทรนด์ใหญ่หรือ Mega trends ในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) คือการให้ความสำคัญกับปัญหาหรือ Pain point ของผู้บริโภค เพื่อที่บริษัท จะผลิตสินค้าและบริการแก้โจทย์ ตอบสนองความต้องการดังกล่าวให้ได้
จรีพร จารุกรสกุล - จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกปัจจุบันกำลังถูกคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อน และมีอำนาจซื้อสินค้าเป็น Next generation purshasing power จึงต้องโฟกัสการทำตลาดมากขึ้น ขณะที่ผู้สูงวัยที่ถูกมองว่าอาจบริโภคน้อยลง แต่คาดการณ์ยังมีโอกาสเติบโตได้ดี เช่น ตลาดอาฟริกา ประเทศกลุ่มตะวันตก เป็นต้น
ส่วน “เทคโนโลยี และดิจิทัล” ที่มีวิวัฒนาการก้าวไกลอย่างรวดเร็วมาก จนอาจทำให้ผู้ประกอบการตามไม่ทัน
นอกจากนี้ เทรนด์ใหญ่ที่ห้ามมองข้ามคือห่วงโซ่การผลิต(Supply chain) ช่วงโควิด-19 ระบาด ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อสินค้าในสถานที่คุ้นเคยได้จากการล็อกดาวน์ เมื่อร้านค้ากลับมาเปิดให้บริการวันแรก จึงเห็นการระดมหยิบสินค้าจำนวนมาก ยอดขายทั้งประเทศปรับตัวดีขึ้น
“Pain point สะท้อนความต้องการผู้บริโภค และซัพพลายเชน เป็นหัวใจสำคัญทำให้สินค้าและบริการเข้าถึงประชาชน”
สำหรับวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไม่น้อย โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ส่วนอสังหาริมทรัพย์เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากการอยู่คอนโดมิเนียม ใช้ระบบสาธารณูปโภคร่วมกัน ไปสู่การมองหาบ้านเดี่ยวมากขึ้น ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นเสาหลักที่กระทบน้อยสุด และมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
ดังนั้น โควิดจึงบังคับการเปลี่ยนวิธีการคิดหรือ Mindset ของบุคลากรทุกระดับ อย่างเรื่องการมุ่งสู่ดิจิทัล บริษัทฯพยายามทำมาหลายปี แต่โควิดมา พนักงานสามารถใช้งานเกี่ยวกับดิจิทัล ออนไลน์ภายใน 3 สัปดาห์ จนถึง 3 เดือน
ขณะเดียวกันการเติบโตของเทคโนโลยี ได้เข้ามาดิสรัปการทำงาน ในโลกธุรกิจมากมาย และมีการคาดว่าจะเข้ามาทดแทนคน แต่บุญรอดฯ ยังตระหนักถึงความสำคัญ และเชื่อมั่นในศักยภาพของคนอยู่เสมอที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าไปได้ ประกอบกับความสัมพันธ์ของพนักงานกับองค์กรเป็นเหมือน “ครอบครัว” ทุกวิกฤติที่ผ่านมาได้ พิสูจน์ให้เห็นว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ที่แกร่งกล้าทำให้บริษัทยืนหยัดอย่างแข็งแรงตลอด 88 ปี
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯเจอกับเหตุการณ์ต่างๆมากมาย แต่ทุกครั้งเรามองว่าวิกฤตคือการสร้างโอกาส หัวใจสำคัญที่ทำให้เราผ่านมาได้ทุกครั้ง คือ มายด์เซ็ท (Mindset) และความร่วมมือร่วมใจของทุกคน เราสนับสนุนให้พนักงานทุกระดับ มีมายด์เซ็ท (Mindset) ที่พร้อมเปิดใจยอมรับและเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ขณะเดียวกันเรายังดูแลทุกคน ทั้ง พนักงาน คู่ค้า ซัพพลายเออร์ เหมือนคนใน ครอบครัว เพราะพื้นฐานของเราเป็นธุรกิจ ครอบครัว”
เป็นบิ๊กค้าปลีกสินค้าไอที มีร้านในพอร์ตโฟลิโอหลายแบรนด์ สร้างยอดขายกว่า 3 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 โดยตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษ สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ธุรกิจมีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 10-20% ทว่า โควิด-19 ฉุดยอดหดตัว 90% เพราะเกิดการล็อกดาวน์ หน้าร้านปิดให้บริการ จากที่เคยคิดว่าบริษัทสามารถบริหารจัดการสินค้าและ “ช่องทางจำหน่าย” เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง วันนี้ต้องคิดใหม่
สุระ คณิตทวีกุล
ทั้งนี้ โควิดเป็นตัวแปรหนึ่งที่ต้องประเมินเมกะเทรนด์ค้าปลีกไอทีใหม่ในอนาคตต 3 ปี 5 ปีและ 10 ปี สินค้า เทคโนโลยีใดมาแรงหรือจะตกยุค เพื่อให้บริษัทหาหนทางให้ธุรกิจอยู่รอด
“เมื่อเราอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ต้องตามเทรนด์ให้ทัน เพราะธุรกิจนี้แข่งขันรุนแรง มีคู่แข่ง และสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นตลอด ต้องศึกษาเทรนด์ที่จะมาดิสรัปเรา หรือเราจะต้องดิสรัปตัวเองก่อน”
สุระ การนำเสนอสินค้าให้ตรงความต้องการผู้บริโภคสำคัญมาก แต่การบริหารช่องทางจำหน่ายเป็นกระดูกสันหลัง แต่โควิดปิดตายยอดขายหน้าร้าน ทำให้ต้องมองโอกาสต่อจิ๊กซอว์ขาย “ออนไลน์” จนเพิ่มสัดส่วนแตะ 10% จากก่อนไวรัสระบาดมีสัดส่วน 3% เท่านั้น โดยโจทย์ใหญ่ขณะนี้คือการเชื่อมช่องทางจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้ไร้รอยต่อ(Seemless) จึงลุยพัฒนาช่องทางขายใหม่ๆ ส่วนสินค้า เมื่อไทยประมูล 5G เรียบร้อย ต้องจับตาเทคโนโลยี อุปกรณ์สื่อสารใด จะมีอิทธิพลต่อตลาด จึงลงทุนมหาศาลเพื่อวิจัยสินค้า
“ขาดทุนช่างมัน หากสินค้า Mass ขึ้นมา เราจะจับตลาดทันก่อนคนอื่น”
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกอนาคต “ผู้นำ” สำคัญ วันนี้ สุระ กำชับทีมผู้บริหารให้ร่วมคิดเหมือนๆกัน เพื่อเดินไปทิศทางเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นยังใช้กฎ 80:20 ให้ยึดสิ่งเดิมที่เป็นธุรกิจหลัก และค้นหาสิ่งใหม่ๆเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าเดิม
เป็นยักษ์ใหญ่ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ฯ ในไทยและภูมิภาคอาเซียน ทำงานใกล้ชิดนักลงทุนต่างชาติทั่วโลก ทำให้ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เห็นแนวโน้มธุรกิจเปลี่ยนไปมาก เช่น อีคอมเมิร์ซที่ยังคงโตแรง มีต่างชาติขับเคี่ยวหนักหน่วงจนกลืนทุนไทย โลกการค้าที่แข่งสร้างอีโคซิสเทมออฟไลน์สู่ออนไลน์ ส่วนผู้เล่นออนไลน์กำลังตีกลับรุกออฟไลน์ เกิดภาพ O2O2O: Offline to Online to Offline
นอกจากนี้ สงครามการค้าและโควิดกระทบการย้ายฐานการผลิตโลกที่กำลังเปลี่ยนจากจีนไปยังประเทศอื่นๆในอาเซียน เทคโนโลยีทรงพลังมากขึ้น ทำให้บริษัทวางงบลงทุน 50,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจในระยะ 5 ปี(2563-2567) และยังมุ่งขับเคลื่อนองค์กรก้าวสู่เทคคัมปะนีด้วย
“การเปลี่ยนแปลงทำให้บริษัทต้องปรับตัวตลอด ขณะที่โควิด-19 ถือเป็นบททดสอบสำคัญว่าสิ่งที่องค์กรดำเนินการนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งโรคระบาดเกิดขึ้นตลอด เป็นสิ่งที่เราต้องเจอ ในฐานะผู้นำองค์กรต้องมองอนาคต คิดว่าจะเกิดวิกฤติอะไรขึ้น เพื่อวางแนวทางการทำงานรองรับ ไม่ใช่มาคิดแก้กลยุทธ์กันเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ ซึ่งคงทำอะไรไม่ทัน”