จี้ 'พลังงาน' ลดค่าการตลาดน้ำมัน

จี้ 'พลังงาน' ลดค่าการตลาดน้ำมัน

กลุ่มผีเสื้อกระพือปีก จี้ “พลังงาน” ลดค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมัน สร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภค หลังพบข้อมูลสูง 3-4 บาทต่อลิตร ลุ้น “กุลิศ” จ่อชง กบง.เร็วๆนี้ ยึดอ้างอิงค่าการตลาดน้ำมัน อยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร ก่อนทบทวนอัตราที่เหมาะสมใหม่

นายณกานต์ จันธิราชนารา แกนนำและผู้ก่อตั้งกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม คณะทำงานชุดย่อย ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 ได้หารือหลักเกณฑ์การคำนวณค่าการตลาดและค่าการตลาดที่เหมาะสม เนื่องจากพบว่าในบางช่วงเวลาค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันอยู่ในระดับสูง 3-4 บาทต่อลิตร จากค่าการตลาดที่เหมาะสม ที่อยู่ที่ ประมาณ 1.85 บาทต่อลิตร

โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในระหว่างนี้ควรจะยึดค่าการตลาดอ้างอิงจากมติ กบง.เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2561 อยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร และบวกค่าใช้จ่ายดำเนินการของผู้ค้ามาตร 7(ม.7) อีก 0.15 บาทต่อลิตร ไปก่อน รวมถึงให้มีการทบทวนค่าการตลาดใหม่ว่า อัตรา 1.85 บาทต่อลิตร เป็นระดับที่เหมาะสมหรือไม่ และอัตราที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร

160880160246

อย่างไรก็ตาม จากข้อสรุปร่วมกันในเบื้องต้นดังกล่าว ทางปลัดกระทรวงพลังงาน จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ กบง.ในเร็วๆนี้ เพื่อให้เกิดการปรับลดค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม

หลังจากนั้น จะมีการนัดหมายประชุมคณะทำงานชุดย่อยอีกครั้งในช่วงต้นปี 2564 หรือหลังปีใหม่ ซึ่งระหว่างนี้ ทางกระทรวงพลังงานจะขอได้ตรวจสอบข้อมูลค่าการตลาดผ่านสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม)ต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการคำนวณค่าการตลาดที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ การเรียกร้องให้มีการทบทวนค่าการตลาด ของกลุ่มผีเสื้อกระพือปีก เนื่องจากเห็นว่า หลังจากกระทรวงพลังงาน ได้มีการปรับหลักเกณฑ์การคำนวณราคา ณ โรงกลั่นใหม่ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กบง.) เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2563 ส่งผลให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯทุกชนิดปรับลดลงได้เฉลี่ย 0.50 บาทต่อลิตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย.2653 เป็นต้นไป แต่ในความเป็นจริงราคาขายปลีกน้ำมันไม่ได้ปรับลดลงสะท้อนต่อราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น เพราะทางผู้ค้าน้ำมันไม่ได้ปรับลดค่าการตลาดลง ทำให้ผู้บริโภค หรือผู้ใช้น้ำมัน ไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวและไม่เกิดความเป็นธรรม

160880149880

หม่อมหลวง กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเรียกร้องให้ทบทวนค่าการตลาดครั้งนี้ ไม่ได้ดูแลแค่ประชาชนผู้ใช้น้ำมันเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ก็ต้องได้รับความเป็นธรรมด้วย ซึ่งการทบทวนค่าการตลาดใหม่ จะต้องเกิดความชัดเจนว่า ค่าการตลาดในแต่ละส่วนควรมีอัตราเท่าใด ทั้งผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ ตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมา พบว่า ปั๊มน้ำมันรายเล็กบางส่วนต้องปิดตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาค่าการตลาดที่ไม่เหมาะสม

“ค่าการตลาดที่กระทรวงพลังงานกำหนดยังเป็นค่าการตลาดเฉลี่ยจากน้ำมันทุกชนิด ซึ่งในความเป็นจริงแต่ละปั๊มขายน้ำมันแต่ละชนิดแตกต่างกัน ทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบ จึงควรกำหนดเพดานค่าการตลาดน้ำมันแต่ละชนิดแยกให้ชัดเจน หรือต้องกำหนดเพดานสูงสุดไว้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น”

ทั้งนี้ ค่าการตลาดที่คลาดเคลื่อน หรืออยู่ในระดับสูงกว่าความเป็นจริงในทุกๆ 1 บาท หากคำนวณจากยอดการใช้น้ำมันรวมของประเทศ อยู่ประมาณวันละ 100 ล้านลิตร ใน 1 ปี มี 365 วัน ก็เท่ากับคนไทยจะต้องเสียเงินจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นปีละประมาณกว่า 36,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้เป็นมูลค่าที่สูงมาก

หม่อมหลวง กรกสิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดนั้น ยิ่งมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาพิจารณาค่าการตลาดให้เป็นธรรม เพื่อลดภาระให้กับผู้ใช้น้ำมัน