BOI เปิด 2 เวทีถกเอกชน อัดแผนกระตุ้นลงทุนปี 64
"สุพัฒนพงษ์" นำทีม BOI สกพอ. หารือเอกชนไทย-ต่างชาติ ระดมสมองกระตุ้นลงทุนปี 64 สมาคมนิคมฯ เสนอโปรโมตการลงทุนรายพื้นที่ จัดสิทธิประโยชน์เป็นแพ็คเกจ
ภาครัฐมีแผนที่จะเร่งรัดการลงทุนในปี 2564 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดเวทีรับฟังความเห็นภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ
1.การรับฟังความเห็นหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย (JFCCT) โดยมีตัวแทนหอการค้าต่างประเทศ 35 คน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563
2.รับฟังความเห็นภาคเอกชนไทย เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2563 ซึ่งมีภาคเอกชนเข้าร่วม 18 คน เช่น นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ,นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์
นายราเมซ กุมาร นาซิงปุระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการดำเนินงาน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ,นายศีลวัต สันติวิสัฎฐ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย ,นายธนสิทธิ์ วิชัยไพโรจน์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
การรับฟังความเห็นทั้ง 2 ครั้ง มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2564 จะเน้นการลงทุนและการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งได้มอบหมายให้หย่อยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อเตรียมดึงการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น
นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การประชุมครั้งนี้สมาคมฯ มีข้อเสนอให้กับภาครัฐเพื่อกระตุ้นการลงทุนในปี 2564 รวม 4 ข้อ คือ
1.ผ่อนมาตรการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ โดยต้องการให้มีช่องทางพิเศษสำหรับนักธุรกิจต่างชาติ และลดการกักตัวน้อยกว่า 14 วัน เพราะผู้บริหารระดับสูงที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่สามารถอยู่นานได้ แต่เป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจลงทุนในไทย
2.การโปรโมตพื้นที่การลงทุนที่หลากหลาย โดยให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นแม่เหล็กในการดึงการลงทุน และให้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (เอสอีแซด) เป็นพื้นที่ลงทุนทางเลือก เพื่อให้นักธุรกิจต่างชาติเห็นว่าไทยมีพื้นที่การลงทุนให้เลือกได้ตามความต้องการ
3.การกระตุ้นการลงทุนเพื่อกระตุ้นการลงทุนใหม่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมให้นิคมอุตสาหกรรมลงทุนพัฒนา Smart Eco-Industrial Estates รวมทั้งการลงทุนพัฒนา Smart Factory เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มมากขึ้น
4.การกำหนดสิทธิประโยชน์การลงทุน โดยต้องการให้ภาครัฐจัดสิทธิประโยชน์เป็นแพ็คเกจที่ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นการบริโภคสินค้าที่ผลิตในประเทศ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะต้องมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนให้ครอบคลุมทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง
“รองนายกฯ มีแนวคิดมีแนวคิดที่จะรับฟังความเห็นภาคเอกชนเพิ่มเติมหลังจากได้รับฟังความเห็นภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีและธนาคาร และหลังจากนี้ภาครัฐจะรับฟังความเห็นภาคธุรกิจอีกหลายกลุ่ม ซึ่งหลายประเด็นภาครัฐได้เตรียมทำไว้แล้ว เชื่อว่าการลงทุนในปี 2564 จะคึกคักกว่าปีนี้ โดยเฉพาะถ้าไม่มีการระบาดในรอบที่ 2 ในวงกว้าง”
นายสแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย (JFCCT) กล่าวว่า การพบหารือกับรองนายกรัฐมนตรีและบีโอไอได้ชี้แจงถึงปัญหาต่างๆ เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน โดยหอการค้าร่วมต่างประเทศได้เสนอแนวทางส่งเสริมการลงทุนในไทย 4 ข้อ ประกอบด้วย
1.การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ต้องกักตัว 14 วันในสถานที่สำหรับเป็นที่กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งต้องการให้ปรับให้เหมาะสม เช่น นักธุรกิจที่เดินทางมาเจรจาธุรกิจต้องกักตัว 14 วัน หากลดลงจะเป็นส่วนหนึ่งที่นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น
รวมทั้งในกรณีที่เครื่องจักรในโรงงานมีปัญหาต้องให้ช่างทางเทคนิคจากต่างประเทศเข้ามาแต่ต้องกักตัว 14 วัน อาจส่งผลกระทบต่อการผลิต ซึ่งอาจปรับลดเวลาหรือกักตัวอยู่ในโรงงานที่สามารถสั่งงานได้ เป็นต้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาไทยถือว่ามีมาตราการในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ดีอยู่แล้ว
2.การดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะการขอให้เร่งเปิดให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนธุรกิจบริการ โดยไม่ต้องขออนุญาตดำเนินธุรกิจในไทยภายใต้บัญชีแนบท้าย 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างแรงงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับไทยได้
3.การปรับระบบระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น
4.การปรับกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการเดินทางเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เช่น การขอวีซ่าพิเศษของนักธุรกิจต่างชาติเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้ามาติดต่อดำเนินธุรกิจ หรือสมาร์ทวีซ่า ซึ่งจะช่วยทำให้การนำผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาปฏิบัติงาน ในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
รวมถึงการขอใบอนุญาต Work permit ในการเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นต้น โดยการปรับปรุงให้มีความสะดวกรวดเร็วจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนได้เป็นอย่างดี