2 ปีฝ่ายนิติบัญญัติ กฎหมายผ่านสภาหลักสิบ

2 ปีฝ่ายนิติบัญญัติ กฎหมายผ่านสภาหลักสิบ

ตลอดระยะเวลากว่า2ปีที่ป่านมารัฐสภาทั้ง "สภาผู้แทนราษฎร" และ "วุฒิสภา" ถูกตั้งคำถามถึงการทำหน้าที่โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมาย ที่เวลานี้ ผ่านสภาแค่หลักสิบ

อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้เดินมาเกือบ 2 ปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่สังคมภายนอกมองมายังการทำงานของสภาฯพบแต่ความขัดแย้งและการชิงความได้เปรียบในทางการเมือง และการต่อรองเพื่อประโยชน์เท่านั้น

ส่วนการอภิปรายในสภาฯของส.ส.ก็มีแต่เพียงการใช้โวหารเพื่อใส่ร้ายกันไปมา จนทำงานหลักของสภาฯอย่างการพิจารณากฎหมายมีความล่าช้าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดช่องทางพิเศษของการพิจารณากฎหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศผ่านที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไม่ต้องผ่านกฎหมายทีละสภาจากสภาผู้แทนราษฎรในสามวาระและวุฒิสภาอีกสามวาระ

แต่ปรากฎว่าทุกอย่างก็ไม่ได้เป็นสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทั้งสภาฯและวุฒิสภาเพิ่งพิจารณากฎหมายไปได้เพียง 11 ฉบับเท่านั้น โดยเป็นข้อมูลที่อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ของวุฒิสภา (senate.go.th)

ข้อมูลจากวุฒิสภาระบุว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านสภาฯและมาอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ของวุฒิสภามีจำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงองค์ประกอบกสทช. และกระบวนการสรรหา

ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาในวาระที่ 3 จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายการจัดเก็บภาษีครอบคลุมไปถึงการประกอบธุรกิจผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (2) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (3) ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ​ (4) ร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. .... และ (5) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ผ่านวุฒิสภาและประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษาแล้วจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ (1) พระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562 (2) พระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 พ.ศ. 2562 (3) พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 (4) พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 และ (5) พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564

เมื่อมองลงไปในรายละเอียดของกฎหมายที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้นั้นส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายประจำที่เป็นหน้าที่ของสภาฯและวุฒิสภาต้องดำเนินการอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญอย่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีแต่ละปี

160949798279

สาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติเดินหน้าไปได้ช้านั้นก็อาจมาจากเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 โดยเฉพาะข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในมาตรา 77

โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ระบุว่า “รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง​

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอนเมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป...”

160949811234

ในประเด็นนี้ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เคยแสดงทัศนะผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ปัญหามาจกการตีความมาตรา 77 จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการเสนอร่างพ.ร.บ.โดยส.ส. ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จะดำเนินการยกร่างโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นนั้น ทางสำนักงานฯ ได้จัดช่องทางผ่านเว็บไซต์ ซึ่งดำเนินการเช่นนี้มาหลายปีแล้ว”

เช่นเดียวกับ ‘สุทิน คลังแสง’ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ให้ทัศนะถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่เป็นปัญหามีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ 1.การกำหนดวันประชุมที่มีลักษณะของการเอาทุกวาระมารวมพิจารณากันทั้งหมด ทำให้สภาฯไม่ได้พิจารณาร่างกฎหมาย แทนที่จะกำหนดวันประชุมสำหรับพิจารณากฎหมายเฉพาะ

2.การตีความกฎหมายให้เป็นกฎหมายการเงิน เป็นต้นสำคัญที่ทำให้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยส.ส.ไม่สามารถเข้าสภาได้ เพราะต้องผ่านการรับรองจากนายกฯก่อน ทุกอย่างจึงล่าช้าและถูกตีตกเป็นส่วนใหญ่”

“ดังนั้น การทำงานในสภาของฝ่ายค้านจะผลักให้ปี 2564 เป็นปีแห่งการผลักดันกฎหมายให้ออกมาจากสภาให้มากที่สุด เพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน” สุทิน กล่าวสรุป