‘Exponential change’ เร่งพัฒนา 'ความรู้-ทักษะ' ก่อนหมดอายุ
ปัจจุบันเกิดปรากฏการณ์ Knowledge Disruption หรือความรู้-ทักษะที่มีนั้นมีอายุสั้นลง สิ่งที่มีหรือเคยใช้การได้ อาจจะหมดอายุก่อนการใช้งานจริง ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลและโลกออนไลน์ นับเป็นปัจจัยที่ 5 ของผู้คน หนทางรอดจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ยุคที่ปรากฏการณ์ “Knowledge Disruption” ความรู้หรือทักษะเดิมๆ ที่เคยได้เรียนรู้ และทำมาในอดีต ไม่สามารถนำพาเราไปสู่อนาคตได้อีกต่อไป เนื่องจาก “ความรู้นั้นมีอายุสั้นลง” จึงไม่แปลกเลยที่คนรุ่นใหม่มองว่า ความรู้ที่ได้เรียนมาเพียงไม่กี่ปีจะหมดอายุการใช้งานในระยะเวลาอันสั้น หรือหมดอายุก่อนได้ใช้งานจริง
อันเนื่องมาจากยุคนี้คือ ยุคแห่ง Exponential change อย่างแท้จริง กล่าวคือ โลกไม่เคยเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขนาดนี้ และจะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงอย่างเชื่องช้าอีกต่อไป ดังนั้นจึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าความรู้หรือทักษะอะไรที่จะเป็นที่ต้องการและเป็นประโยชน์ในอนาคต
จากผลสำรวจของ Sea Group ร่วมกับ สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ซึ่งได้สำรวจคนรุ่นใหม่ทั่วอาเซียน อายุ 15-35 ปี จำนวนกว่า 56,000 คน เพื่อค้นหาและทำเข้าใจว่า คนรุ่นใหม่คิดอย่างไรกับอนาคตของงาน และการเรียนรู้ โดยผลสำรวจพบว่า เยาวชนในอาเซียนโดยเฉลี่ยมองว่า ทักษะที่ตัวเองมีอยู่มีอายุขัยประมาณ 9 ปี คือ หลังจากช่วงเวลานี้ต้องได้รับการพัฒนาทักษะใหม่ เพื่อสามารถทำงานต่อไปได้
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลและโลกออนไลน์ นับเป็นปัจจัยที่ 5 ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก ประชากรราว 60% ของโลกเข้ามาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยมี ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 4,500 ล้านคนทั่วโลก มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียกว่า 3,800 ล้านคนทั่วโลก และคาดว่ามีจำนวนเกิน 50% ของประชากรโลกแล้วเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมานี้
แต่ถ้าจะให้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าอาชีพอะไรนั้นกล่าวได้ยากมาก เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้อาชีพบางอาชีพหายไป และทำให้อาชีพบางอาชีพเกิดขึ้นใหม่ เช่น อาชีพ ไรเดอร์ (Rider) ของแพลตฟอร์มต่างๆ หรือ อาชีพยูทูบเบอร์
โดยสภาเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ว่าภายในปี 2565 จะมีตำแหน่งงานเกิดใหม่ราว 133 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่งานอีก 75 ล้านตำแหน่ง จะกลายเป็นอาชีพที่ล้าสมัยและถูกลดความสำคัญลง เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้เจริญเติบโตก้าวหน้าได้ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในสายงานเดิมหรือการข้ามไปสู่สายงานใหม่ๆ ดังนั้นแรงงานยุคดิจิทัลต้องเร่งพัฒนาทักษะและประสิทธิภาพตัวเองให้พร้อมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
Workforce ยุคดิจิทัลจึงต้องมี Core skills ดังนี้ มีทักษะรอบด้าน มีความรู้เรื่องดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีเป็น ภาษาดี สื่อสารได้มีประสิทธิภาพ และภาษาจะเป็นประตูสู่การหาความรู้จากแหล่งใหม่ๆ เข้าใจและจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์ดาต้า เพื่อนำมาตั้งคำถามที่ถูกต้อง และปรับใช้เพื่อพัฒนาการทำงานของตนเองและทีมได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้แค่ความเชี่ยวชาญในสายงานนั้นไม่พอ ต้องมีการ รีสกิล อัพสกิล อยู่เสมอ มีทัศนคติเชิงบวกและมี “Growth Mindset” เพราะทุกอย่างเริ่มต้นที่ Mindset ที่พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต มองโอกาสให้ออกก่อนคนอื่น แก้ปัญหาได้ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ เพราะโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โอกาสและความท้าทายใหม่เข้ามาเสมอ เพราะฉะนั้นคนที่จะอยู่รอดคือ “คนที่ปรับตัวได้ดีที่สุด”
ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ทุกคนล้วนต้องปรับตัว เพื่อที่จะปรับวิถีการใช้ชีวิต วิถีการทำงาน สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัล คนรุ่นใหม่ต้องรู้จักค้นหาดูว่ามีโปรแกรมอะไรบ้างที่สามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ เพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับการประกอบอาชีพยุคดิจิทัลในปัจจุบันและอนาคต