'โอกาสลงทุน' มีเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเดิมกดดัน
จับตาปัจจัยบวก ปัจจัยลบ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2564 จากสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายประเทศต้องเผชิญการแพร่ระบาดระลอกสอง การลงทุนในปีนี้จะเป็นไปในทิศทางใด? สินทรัพย์ประเภทใดน่าลงทุนบ้าง?
มาเริ่มกันด้วยเรื่องราวที่เป็นบทต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2563 ลากข้ามปีมาจนถึงปี พ.ศ.2564 โดยมาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และมองเข้าไปถึงเรื่องดังกล่าวเพื่อขุดให้เห็นผลที่จะเกิด และเป็นไป จะดี หรือจะแย่ ตามมาดูกันครับ
สถานการณ์ COVID-19 ก็ยังคงทวีความรุนแรง และเริ่มเกิด Second wave ในหลายๆ ประเทศ ทั่วโลก ทั้งนี้ยังไม่นับถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อใน UK ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายสูงกว่าเชื้อเดิมถึงกว่า 70% ความรุนแรงยังคงมีอยู่ แต่มีข้อต่างจากต้นปี 63 อยู่หลายประการ
ประการแรก เรารู้จัก COVID-19 ดีขึ้นมาก เรารู้ว่าสู้อยู่กับอะไรและจะป้องกันตัวได้อย่างไร
ประการที่สอง มีการค้นพบวัคซีนต้านเชื้อไวรัส ข้อมูลล่าสุดก็มีวัคซีนของ Pfizer Moderna และ Astrazeneca ซึ่งประเทศเรามีเอี่ยวด้วย ดังนั้นความรุนแรงของการแพร่กระจายเชื้อยังคงอยู่ แต่เรารู้และมีวิธีที่จะสู้กับ COVID-19 ดังนั้นสถานการณ์ย่อมดีกว่า 1 ปีที่ผ่านมาแน่ๆ
ภาวะเศรษฐกิจ ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3 ปี 63 จากภาวะการถดถอยที่มาจากการ Lock down ประเทศในช่วงปลายไตรมาส 1/63 ถึงไตรมาส 2/63 นั้น แต่ก็ดีใจกันได้ไม่นาน เมื่อการแพร่กระจายระลอกที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/63 หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สเปน สวีเดน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก ต้องเผชิญกับการระบาดอย่างรุนแรงจนถึงขึ้นต้อง Lockdown รอบสอง ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นไปได้ยาก ถึงแม้ว่าจะมีการอุดหนุนเงินเพื่อช่วยเหลือธุรกิจให้ผ่านช่วงนี้ไปได้ ด้วยตัวเลขการอุดหนุนเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 20% ของ GDP ก็ตาม แต่การ Lockdown รอบสอง อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเข้าสู่ช่วงชะงักงันอีกครั้งหนึ่ง
ก้าวเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 64 วัคซีนเริ่มมีการผลิตออกมาใช้ในวงกว้าง การ Lock down เริ่มคลายตัวลง การจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคจะเป็นตัวหนุนเศรษฐกิจ และหากได้รับแรงกระตุ้นที่ดี โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ก็จะเป็นผลบวกกับประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย
เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ข้างต้น ก็จะพบว่าปีนี้น่าจะใช้คติไทยที่ว่า “ต้นร้าย ปลายดี” ก็น่าจะเหมาะอยู่นะครับ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุด ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ท่ามกลางภาวะที่ผลตอบแทนจากตราสารหนี้อยู่ในระดับต่ำ สินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจมากกว่าบวกกับมุมมองที่ดีในช่วงครึ่งปีหลัง การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแบบ Dollar Cost Average ซึ่งเป็นการทยอยเข้าลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ถือเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลก ยังคงได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งมาจากการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ที่ยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพราะจะมีสภาพคล่องเข้ามาในระบบมากขึ้น ประกอบกับความคืบหน้าของวัคซีนต้าน Covid-19 จึงช่วยให้นักลงทุนเริ่มมองเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 จบลง
จึงแนะนำให้นักทุนทยอยลงทุนสะสมกองทุนที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี หลังจากจบการแพร่ระบาด Covid-19 นอกจากนี้ การทยอยสะสมหุ้นในกลุ่ม new economy หรือกลุ่มเทคโนโลยี จะยังเป็นการป้องกันการเสียโอกาสการลงทุนได้ในปีนี้
ในส่วนของผู้ที่ยังสนใจลงทุนหุ้นไทย ผมมองว่า หุ้นไทยรวมถึงหุ้นในแถบเอเชีย ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพราะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ตาม Fund Flow ที่คาดว่าจะไหลเข้ามาบ้าง ทั้งนี้ผมแนะนำให้ลงทุนในกองทุนหุ้นปันผล หรือกองทุนหุ้น SET50 แต่อย่างที่กล่าวข้างต้น ผมยังเน้นลงทุนแบบทยอยสะสม หรือ DCA ครับ
สำหรับผู้ที่ไม่นิยมความผันผวน การลงทุนแบบกระจายสินทรัพย์ โดยมีการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น 45% หุ้นไทยและต่างประเทศรวมกัน 40% ที่เหลืออีก 15% เป็นทอง น้ำมัน และกอง REIT ในสัดส่วนเท่าๆ กัน ก็น่าจะสามารถรักษาผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5% ได้ครับ
แต่ถ้าหากไม่มีเวลา ไม่ต้องการความผันผวน และมีความคุ้มครองประกันภัย หรือ ประกันสุขภาพให้ด้วย บลจ. ก็มีกองทุนประเภทนี้อยู่ เป็นกองทุนประเภทลงทุนใน Multi Asset ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนพร้อมรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม ผมมองว่า เริ่มต้นปีลงทุนพร้อมรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ควบคู่กันก็ถือเป็นการลงทุนที่เบ็ดเสร็จอีกรูปแบบหนึ่งครับ