รัฐบาลให้แรงงาน สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อยู่ไทยต่อได้เป็นกรณีพิเศษ

รัฐบาลให้แรงงาน สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา อยู่ไทยต่อได้เป็นกรณีพิเศษ

รัฐบาลไทย ย้ำดูแลสุขภาพพี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาให้ดีที่สุด พร้อมอนุญาติให้ "แรงงานข้ามชาติ" 3 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา สามารถพำนักในไทยต่อเนื่องได้เป็นกรณีพิเศษ นาน 2 ปี

ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศน์ ในนามรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในการแถลงข่าวจากศูนย์ ศบค. ณ ทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 9 ม.ค. 2564 ในประเด็น “แรงงานข้ามชาติ” ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย และต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ครั้งนี้

ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามรัฐบาลไทย อนุญาติให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ 3 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา สามารถพำนักอยู่ในไทยต่อเนื่องได้เป็นกรณีพิเศษ

โดยรองอธิบดีกรมสารนิเทศน์ ได้กล่าวในรายละเอียดว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยมีความห่วงใยเพื่อนบ้านไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะ มาเลเซีย เมียนมา อินโดนีเซีย ที่พบยอดผู้ติดเชื้อโควิดค่อนข้างสูง ยอดผู้ป่วยทะลุหลักหมื่นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 ส่วนในไทยเอง วันนี้เป็นวันแรกที่ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในไทยทะลุเกิน 1 หมื่นราย ซึ่งทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องช่วยกันระมัดระวังและควบคุมยอดผู้ติดเชื้อให้ได้

มีรายงานข่าวในประเทศเพื่อนบ้านข่าวหนึ่ง จากแหล่งข่าวในประเทศเมียนมา อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในไทย ในการนี้รัฐบาลไทยจึงอยากสื่อสารไปยังพี่น้องกลุ่มแรงงานเมียนมาว่า

"รัฐบาลไทยเข้าใจดีว่าโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่รุนแรงในระดับโลก เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายและติดต่อกันได้ในบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกสัญชาติ ไม่มีเว้น ดังนั้น รัฐบาลไทยตระหนักดีว่าโรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่ไร้พรมแดน ไร้สัญชาติ รัฐบาลไทยไม่เคยมองพี่น้องแรงงานข้ามชาติว่าเป็นคนอื่นไกล

แรงงานเมียนมา แรงงานกัมพูชา และแรงงานลาว ที่มาทำงานในประเทศไทยนั้น เข้ามาทำประโยชน์และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นผู้ที่สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเหมาะสมเหมือนกับพี่น้องแรงงานชาวไทย เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องได้รับบริการทางการแพทย์เทียบเท่ากับคนไทย ซึ่งเป็นหลักการที่หน่วยงานไทยทุกหน่วยยึดถือปฏิบัติมาตลอด 

ขอให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านไว้วางใจว่า ทางหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงคนไทย ไม่ได้มองพี่น้องผู้ใช้แรงงานข้ามชาติเป็นอื่นใดนอกจากเป็น "เพื่อนของเรา" ในวิกฤตินี้ และเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจของเรา

เพื่อเป็นการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา ภายใต้สถานการณ์โควิด ทาง ครม. ได้มีมติเห็นชอบออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ให้มีการผ่อนผันแก่ผู้ใช้แรงงานจาก 3 ประเทศดังกล่าว สามารถอยู่ในราชอาณาจักรไทยและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ เป็นระยะเวลา 2 ปี ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เคยประกาศไปก่อนหน้านี้

ทางรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน อย่างเต็มขีดความสามารถ ด้วยระบบสาธารณสุขของไทยที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยไม่เลือกปฏิบัติทั้งในแง่สัญชาติ เพศ วัย ศาสนา บุคคลากรทางการแพทย์ให้ความสำคัญกับคนไข้อย่างเท่าเทียมกัน

สำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงานเมียนมาที่อยู่ในพื้นที่สมุทรสาครนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้จัดหาแนวทางรักษาที่เหมาะสม เช่น แยกผู้ป่วยออกจากคนที่ยังไม่ป่วย มีพื้นที่กักตัว ด้านสภากาชาดไทยก็ได้จัดหาอาหาร น้ำดื่ม และให้บริการด้านสวัสดิภาพอื่นๆ เสริมเข้ามาด้วย 

อีกทั้ง รัฐบาลไทยได้เชิญท่านเอกอัครราชทูตเมียนมา สถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมพี่น้องผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมา ให้กำลังใจ สื่อสารและหารือกันถึงความต้องการของพี่น้องชาวเมียนมาในพื้นที่สมุทรสาคร และยังมีการเสริมโรงพยาบาลสนามในจุดต่างๆ ด้วย"